งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีและวิธีการวัดกระดูกใต้กะโหลกศรีษะ ตามระบบเมตริก (osteometry) กับตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ปีการขุดค้น พ.ศ. 2546-2547 จำนวน 109 โครง จำแนกเป็น (1) โครงกระดูกทารก เด็ก และวัยรุ่น มีค่าประเมินอายุเมื่อตายต่ำกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี หรือยังไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างก้านกระดูกยาว (diaphysis) และส่วนเชื่อมต่อ (epiphysis) จำนวน 47 โครง และ (2) โครงกระดูกผู้ใหญ่มีค่าประเมินอายุเมื่อตายมากกว่า 20 ปี หรือมีการเชื่อมต่อกระดูกสมบูรณ์แล้วเสร็จ จำนวน 62 โครง วัดกระดูกจำนวน 14 ส่วน ตามจุดกำหนดอ้างอิงตามมาตรฐานสากล วัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลลักษณะที่วัดได้ของกระดูก ใต้กะโหลกศรีษะของกลุ่มตัวอย่าง ใช้เปรียบเทียบร่วมกับกลุ่มประชากรอื่นและใช้ศึกษาตามวิธีการทางสถิติปริมาณ ผลการศึกษาการวัดกระดูกใต้กะโหลกศรีษะตัวอย่างโครงกระดูกทารก เด็ก และวัยรุ่น พบว่าเบื้องต้นสามารถที่จะใช้ในการประเมินค่าอายุเมื่อตายของโครงกระดูกได้ ในอัตราความแม่นยำราวร้อยละ 65.3-97.7 ส่วนผลการศึกษาโครงกระดูกผู้ใหญ่ พบว่าตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน เพศชายมีค่าความสูงระหว่าง 159.3-167.3 เซนติเมตร ส่วนเพศหญิงมีค่าความสูงระหว่าง 144.5-153.8 เซนติเมตร ตามค่าสมการไทยจีน (สรรใจ แสงวิเชียรและคณะ 2528) เพศชายมีขนาดโดยเฉลี่ยของกระดูกไหปลาร้า ต้นแขน ปลายแขนด้านนอก ปลายแขนด้านใน ต้นขา สะบ้า หน้าแข้ง และกระดูกข้อเท้า calcaneus และ talus ใหญ่ กว้าง และหนากว่าค่าเฉลี่ยขนาดกระดูกของเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ส่วนสุดท้ายการวัดขนาดกระดูกไหปลาร้า ต้นแขน ปลายแขนด้านนอก ปลายแขนด้านใน ต้นขา สะบ้า และหน้าแข้ง สามารถใช้ในการประเมินจำแนกเพศกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกได้ ในอัตราความแม่นยำราวร้อยละ 82.9-94.9