ในปัจจุบันการระบุเพศจากโครงกระดูกมนุษย์มีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่กระดูกที่นำมาระบุเพศมากที่สุด คือ กะโหลกศรีษะ (skull) และกระดูกเชิงกราน (pelvic bone) ในงานนิติวิทยาศาสตร์มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อศพ เช่น การเผาทำลายหลักฐาน ทำให้สภาพของโครงกระดูกอาจไม่ครบสมบูรณ์
การทดลองนี้ใช้กระดูกสะบ้าเพื่อระบุเพศของมนุษย์ เนื่องจากกระดูกดังกล่าวจัดเป็นกระดูก sesamoid ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์
ในการวิจัยได้นำกระดูกสะบ้าจากศพที่สำนักงานนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 100 คู่ เป็นเพศชาย 65 คู่ และเพศหญิง 35 คู่ อายุระหว่าง 25-60 ปี มาทำการวัดหาระยะทั้ง 8 ตำแหน่ง แล้วนำมาข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้โปรแกรม SPSS กระดูกสะบ้าของเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.000) ในทุกตำแหน่งที่ศึกษา ตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงสุดในการระบุเพศ คือ ตำแหน่งความกว้างกระดูกสะบ้าในข้างซ้าย (MAXWD) และ ตำแหน่ง ความสูงของ lateral articular facet ในข้างซ้ายและข้างขวา (HDLA) ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 90% จากการศึกษาพบว่ากระดูกสะบ้าสามารถใช้ในการแยกเพศได้