มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

การกำหนดเพศโดยการวิเคราะห์จำแนกเพื่อประเมินหาค่าความน่าเชื่อถือ ในการวัดกระดูกฝ่ามือในประชากรไทย

ชื่อเรื่อง
การกำหนดเพศโดยการวิเคราะห์จำแนกเพื่อประเมินหาค่าความน่าเชื่อถือ ในการวัดกระดูกฝ่ามือในประชากรไทย
ผู้แต่ง
พิชิตพล แม้นวงศ์
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2010
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาค่าความเชื่อมั่นที่ใช้ในการแยกเพศโดยใช้กระดูกฝ่ามือในประชากรไทย ในการวิจัยนี้ได้กระดูกฝ่ามือจากร่างอาจารย์ใหญ่ โดยความอนุเคราะห์ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวัดกระดูกฝ่ามือโดยที่ผู้วิจัยไม่ทราบเพศของกระดูกฝ่ามือนี้มาก่อน เมื่อทำการวัดแล้ว จึงคัดกระดูกฝ่ามือทั้ง 2 ข้างของอาจารย์ใหญ่แต่ละท่าน ที่มีเกณฑ์อายุระหว่าง 25 – 80 ปี จำนวน 30 คู่ แบ่งเป็นเพศชาย 18 คน และเพศหญิง 12 คน มาทำการวัด แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้โปรแกรม SPSS สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ t-test และการวิเคราะห์จำแนก พบว่าโดยส่วนมากค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของการวัดกระดูก ฝ่ามือในเพศชายมีค่าสูงกว่าในเพศหญิง จากการศึกษาพบว่ากระดูกฝ่ามือในเพศชายและเพศหญิงส่วนมากมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยพบว่ากระดูกฝ่ามือสามารถใช้ในการแยกเพศได้ โดยในภาพรวมจุดที่ใช้แยกเพศได้ดีที่สุด คือ จุด ECD ซึ่งเป็นค่าความกว้างของ Epicondylar ของ Second metacarpal bones โดยให้ค่าความน่าเชื่อถือสูงถึง 83.3% ส่วนผลในกลุ่มเพศชาย พบว่าจุดที่สามารถแยกเพศได้ถูกต้องที่สุดในกระดูกฝ่ามือเพศชาย คือ จุด ECD ของกระดูกฝ่ามือที่ 2 ข้างขวา พบว่ามีค่าความน่าเชื่อถือจากการทำนาย 83.3% เช่นเดียวกับผลการวิเคราะห์ในภาพรวม และในเพศหญิงพบว่าจุดที่สามารถแยกเพศได้ถูกต้องที่สุดในกระดูกฝ่ามือเพศหญิง คือ จุด MLDM (ค่าของความกว้างบริเวณครี่งหนึ่งของความยาวกระดูกชิ้นนั้นๆ) ของกระดูกฝ่ามือที่ 2 ข้างขวา และจุด APDDE (ค่าของความหนาของปลายกระดูกส่วน distal) ของกระดูกฝ่ามือที่ 5 ข้างขวา พบว่ามีค่าความน่าเชื่อถือจากการทำนายสูงถึง 91.7% ผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้วิเคราะห์คดีในกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป

เอกสารฉบับเต็ม