การประมาณความสูงของร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญในการประเมินลักษณะบุคคลจากโครงกระดูก เท่ากันกับตัวแปรอื่น เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ ข้อมูลนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการระบุตัวของศพและช่วยในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้การสืบสวนสอบสวนของคดีแคบลง ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่มีความรุนแรงและภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่จะพบโครงกระดูกที่สมบูรณ์มีน้อยลง แม้ว่าการประมาณความสูงที่ดีได้จากกระดูกยาว แต่ในบางกรณีไม่มีกระดูกยาวจำเป็นต้องประมาณความสูงจากกระดูกส่วนอื่น การศึกษาครั้งนี้ต้องการศึกษาการประมาณความสูงของร่างกายจากกะโหลกศรีษะเพื่อศึกษา แนวทางในการประมาณความสูงของร่างกายจากการใช้กะโหลกศรีษะในประชากรไทยและเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้กับงานการตรวจพิสูจน์ทางมานุษยวิทยาในประเทศไทย
จากการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรประมาณความสูงจากกะโหลกศรีษะสำหรับประชากรไทย ใช้ตัวอย่างทั้งหมด 118 ตัวอย่าง โดยการวัดกะโหลกศรีษะทั้ง 6 ตำแหน่ง โดยใช้ Linear Regression โดยในการคำนวณตัวแปรที่มีค่าความสัมพันธ์กับความสูงของร่างกายมากที่สุด (r=0.444) และมีค่าคลาดเคลื่อนมาตรฐานต่ำสุด (SEE 8.338) คือตำแหน่งของ Bizygomatic Breadth และในการคำนวณหาสมการประมาณความสูงของร่างกายมากที่สุด (r=0.526) และมีค่าคลาดเคลื่อนมาตรฐานต่ำสุดคือ (SEE 7.985) โดยใช้ตัวแปรทั้งหมด 3 ตัวแปร สมการคือ {ค่าความสูงที่ประมาณได้ = [56.036 + (6.721 x zy-zy) + (4.17 x ba-b) ) – (4.25 x ft-ft)] + 7.985} ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์กับความสูงของร่างกายมากกว่าและค่าคลาดเคลื่อนมาตรฐานต่ำกว่าการใช้ตัวแปรเดียวในการคำนวณ