การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาค่าความเชื่อมั่นในการระบุเพศ จากการศึกษาความแตกต่างของขนาดโครงสร้างของกระดูกสันอกระหว่างเพศหญิงและเพศชายในประชากร โดยทำการศึกษากระดูกสันอกจากอาจารย์ใหญ่ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมด 30 ชิ้น ในช่วงอายุระหว่าง 20-80 ปี กำหนดการวัดหาระยะทั้งหมด 8 ตำแหน่ง โดยขณะทำการวัดจะยังไม่ทราบเพศของกระดูกนี้มาก่อน ภายหลังสืบค้นประวัติ พบว่าเป็นเพศชาย 15 ชิ้น และเป็นเพศหญิง 15 ชิ้นทำการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยโปรแกรม SPSS โดยใช้ t-test และใช้สถิติการจำแนก (Discriminant Analysis)
จากการศึกษาเปรียบเทียบค่าความแตกต่างของตัวแปรในกระดูกสันอก (sternum) และขนาดพื้นที่ทั้งหมด ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของการวัดกระดูกสันอกในเพศชายจะมีค่าสูงกว่าเพศหญิง โดยตำแหน่งส่วนมากมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < 0.05 โดยตำแหน่งที่ใช้ในการแยกเพศได้ดีที่สุดคือ จุด Corpus sterni width a first sternebra (CSWS1) ซึ่งเป็นค่าความกว้างของกระดูกสันอก ที่วัดจากมุมระหว่างกระดูกอ่อนซี่โครงซี่ที่ 2 และ 3 ให้ค่าความน่าเชื่อถือสูงถึง 86.7% ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยค่าเฉลี่ยพื้นที่รวมของกระดูกสันอกในเพศชายมีขนาดใหญ่กว่าเพศหญิง คือ เพศชาย 5872.72 mm3 จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ากระดูกสันอกสามารถใช้ในการแยกเพศได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์คดีในกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป