การพยากรณ์เพศและส่วนสูงของบุคคลเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างหนึ่งในทางนิติวิทยาศาสตร์ แม้ในปัจจุบันการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจะมีอยู่หลายวิธี แต่ในกรณีที่สภาพศพของผู้เสียชีวิตได้รับความเสียหายมาก อาจพบชิ้นส่วนร่างกายของผู้เสียชีวิตในสภาพไม่สมบูรณ์ การตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยระยะจากจุดอ้างอิงบนหัวกระดูกต้นขาเพื่อระบุเพศและส่วนสูงจึงอาจเพิ่มโอกาสในการระบุตัวบุคคลได้ในกรณีที่ไม่พบกระดูกต้นขาส่วนปลาย
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศและส่วนสูงกับระยะที่วัดจากจุดอ้างอิง 15 ระยะ บนหัวกระดูกต้นขา โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 136 ราย และนำมาคำนวณด้วยวิธีการทางสถิติ โดยสร้างสมการถดถอยโลจิสติก เพื่อหาความสัมพันธ์กับเพศ และใช้สมการถดถอยเชิงเส้นหาความสัมพันธ์กับส่วนสูง แต่พบว่าไม่พบความสัมพันธ์ของตัวแปรใดที่ชัดเจน เนื่องจากระยะที่วัดได้จากหัวกระดูกต้นขามีความสัมพันธ์กับเพศและส่วนสูงมากกว่าสองระยะ หรือ มีความสัมพันธ์กันเองของระยะบนส่วนหัวกระดูกต้นขา จึงใช้เทคนิค Stepwise method วิเคราะห์เพื่อหาตัวแปรระยะที่มีความสัมพันธ์กับเพศและส่วนสูงและสร้างสมการถดถอยทำนายเพศและประมาณส่วนสูง ผลการศึกษาพบว่าส่วนหัวกระดูกต้นขาสามารถทำนายเพศได้ร้อยละ 84.5 โดยใช้สมการจากระยะส่วนแคบที่สุดของคอกระดูกต้นขา (C-D) และระยะจากคอกระดูกต้นขาด้านนอกถึงส่วนหัวกระดูกที่กว้างที่สุดบริเวณต้นขาด้านใน (C-E) ระยะบนส่วนหัวกระดูกต้นขาไม่เหมาะสมกับการประมาณส่วนสูง โดยสมการถดถอยสามารถประมาณส่วนสูงได้เพียงร้อยละ 10.1 ในเพศชายและร้อยละ 19.4 ในเพศหญิง