การระบุเพศจากโครงกระดูกมนุษย์ในปัจจุบันสามารถกระทำได้หลายวิธี นักนิติวิทยาศาสตร์ศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพของกระดูกเพื่อนำมาใช้ในการระบุเพศ โดยกระดูกที่นำมาระบุเพศมากที่สุด คือ กระดูกเชิงกราน (Pelvic bone) และกะโหลกศรีษะ (Skull) ตามลำดับ แต่เนื่องจากในงานนิติวิทยาศาสตร์ มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของศพ เช่น การฆ่าหั่นศพ การเผาทำลายหลักฐาน หรือการแยกชิ้นส่วนของศพเพื่ออำพรางคดี ซึ่งทำให้สภาพของโครงกระดูกอาจไม่ครบสมบูรณ์ ดังนั้นในการศึกษานี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการหาค่าความน่าเชื่อถือที่ใช้ในการแยกเพศโดยใช้กระดูกปลายแขนด้านใน (Ulna) และกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)
ในการวิจัยได้ทำการวัดความยาวกระดูก Ulna และกระดูก Tibia จำนวน 400 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 188 คน และเพศหญิงจำนวน 212 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีอายุระหว่าง 20-55 ปี โดยทำการวัดความยาวกระดูก Tibia จากขอบปลายสุดของปุ่มกระดูก Medial malleolus ไปจนถึงขอบของปุ่มกระดูก Medial condyle ของกระดูก Tibia และวัดความยาวของกระดูก Ulna จากขอบปลายสุดของปุ่มกระดูก Ulna styloid process บริเวณข้อมือ ไปจนถึงปุ่มกระดูก Olecranon process บริเวณข้อศอก โดยใช้ Vernier caliper ขนาด 20 นิ้ว เป็นเครื่องมือในการวัด
จากนั้นนำข้อมูลเพศและความยาวกระดูกที่วัดได้มาวิเคราะทางสถิติ พบว่ากระดูกที่สามารถใช้ในการแยกเพศชายได้ถูกต้องที่สุด คือ กระดูก Ulna ข้างซ้าย มีค่าความน่าเชื่อถือจากการทำนายร้อยละ 84.00 และกระดูกที่สามารถใช้ในการแยกเพศหญิงได้ถูกต้องที่สุด คือ กระดูก Ulna ข้างขวา มีค่าความน่าเชื่อถือจากการทำนายร้อยละ 87.30 ตามลำดับ ดังนั้นผลการศึกษานี้จึงเป็นประโยชน์ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้วิเคราะห์สำหรับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป