วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพในช่องปากของกลุ่มประชากรสมัยเหล็ก จากแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี กำหนดอายุ 1,400-1,600 ปีมาแล้ว ตัวอย่างที่ใช้ศึกษาประกอบด้วยโครงกระดูกจำนวน 14 โครง (จำนวนฟัน 192 ซี่) จำแนกเป็นเพศชาย 4 โครง เพศหญิง 3 โครง และจำแนกเพศไม่ได้ 7 โครง โดยใช้ตัวชี้วัดด้านสุขภาพในช่องปากคือรอยโรคฟันผุ การสูญเสียฟันขณะมีชีวิต (AMTL) การสึกของฟันในระดับมาก และรอยโรคหนองในโพรงฟัน (abscessing)
ผลการศึกษาพบว่าประชากรสมัยเหล็กที่พรหมทินใต้ โดยภาพรวมมีสุขภาพฟันดีกว่ากลุ่มประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์อื่น ๆ ในประเทศไทย โดยไม่พบการสูญเสียฟันขณะมีชีวิต มีการสึกของฟันในระดับมาก ร้อยละ 6.8 (13/192) กับมีความชุกของรอยโรคฟันผุในระดับต่ำ ร้อยละ 0.5 (1/192) น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีและหนองโน และประชากรในเขตที่ราบสูงโคราชเช่นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โนนนกทา บ้านนาดี บ้านหลุมข้าว และเนินอุโลก