งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีข้อสมมติฐาน 2 ประการคือ 1) ประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันจะมีสุขภาพคล้ายคลึงกัน และต่างกันตามสภาพแวดล้อม และ 2) ปัจจัยด้านวัฒนธรรม ประชากรจะมีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้น
ตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ที่ใช้ในการศึกษาจำนวน 497 โครง จากแหล่งโบราณคดีจำนวน 4 แหล่ง จำแนกตามสภาพแวดล้อมออกเป็น 2 ประเภทคือแหล่งโบราณคดีบริเวณชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออกคือโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี สมัยหินใหม่3,500-4,000 ปีมาแล้ว และหนองโน จังหวัดชลบุรี สมัยสำริด 2,700-3,100 ปีมาแล้ว และแหล่งโบราณคดีบริเวณที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือบ้านหลุมข้าว จังหวัดนครราชสีมา สมัยสำริด3,400 ปีมาแล้ว และบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี สมัยเหล็ก2,400-2,600 ปีมาแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพที่ใช้ศึกษาได้แก่ข้อมูลประชากรศาสตร์โบราณ การเจริญเติบโตและภาวะชะงักงันของการเจริญเติบโต การเสื่อมสภาพของข้อกระดูก ร่องรอยการบาดเจ็บ และสุขภาพช่องปาก
ผลการศึกษาโดยภาพรวมสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่าในสังคมที่มีพัฒนาการมากขึ้น ประชากรจะมีสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งพบว่าสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชากรมีสุขภาพแตกต่างกัน เขตชายฝั่งทะเลอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นมาลาเรียแต่มีอาหารสมบูรณ์ ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม้จะห่างจากพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นมาลาเรียแต่มีข้อจากัดเรื่องแหล่งอาหารตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การที่ประชากรโคกพนมดีและบ้านหลุมข้าวมีภาวะสุขภาพไม่ดีเมื่อเทียบกับหนองโนและบ้านนาดี อาจเป็นผลจากการบุกเบิกพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานและการปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ ต่างจากสองกลุ่มหลังที่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น จึงปรับตัวได้ง่าย ทำให้มีสุขภาพโดยรวมดีกว่า