หนังสือเล่มนี้เป็นรายงานผลการวิจัยในระยะที่สอง (พ.ศ. 2539-2542) ของโครงการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร ประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์กีเมต์ ศูนย์ศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝรั่งเศส เสนอผลการวิเคราะห์หลักฐานประเภทต่าง ๆ ทั้งโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด ลูกปัด และเครื่องมือเหล็ก จากแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
การศึกษาครั้งนี้พบโครงกระดูกที่ถูกฝังอยู่ในหลุมฝังศพมากกว่า 30 โครง รวมทั้งภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกและเศษกระดูกที่มีร่องรอยการเผาไหม้ แต่เนื่องจากสภาพกระดูกไม่สมบูรณ์ สามารถจำแนกเพศโครงกระดูกได้โครงเดียวเท่านั้น ส่วนการประเมินอายุเมื่อตายจากพัฒนาการเชื่อมต่อของกระดูกและการเจริญเติบโตของฟัน พบเป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ 19 โครง ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว จำนวน 7 โครง และทารกกับเด็ก จำนวน 3 โครงเท่านั้น การศึกษาพยาธิสภาพและสุขภาพของประชากร พบรอยโรคกระดูกข้อต่อเชื่อมติดกันระหว่างกระดูกสันหลังส่วนสะโพกและกระดูกกระเบนเหน็บ จำนวน 1 โครง โดยภาพรวมของประชากรมีสุขภาพช่องปากดี มีอัตราฟันผุและคราบหินปูนในระดับต่ำ
หลักฐานจากหลุมฝังศพผู้ใหญ่ เด็ก และทารก สันนิษฐานได้ว่าช่วงสมัยการฝังศพที่บ้านวังไฮมีเพียงสมัยเดียว โดยพบการใส่วัตถุอุทิศให้กับบางศพเช่นอาวุธที่ใช้ในการล่าสัตว์หรือทำสงคราม หรือวัตถุอุทิศที่เป็นเครื่องประดับจำนวนมาก แสดงถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ตายที่ต่างจากคนอื่น รวมทั้งยังพบว่ามีการวางหรือจัดกลุ่มหลุมฝังศพที่แสดงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เป็นการแบ่งกลุ่มตามความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือสถานภาพทางสังคมของผู้ตายก็อาจเป็นได้