วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอผลการศึกษา 1) ลักษณะทางกายภาพของกระดูกมนุษย์ 2) รูปแบบพิธีกรรมการฝังศพ และ 3) ระบบการจัดระเบียบสังคมของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุประมาณ 2,500-3,500 ปีมาแล้ว ที่แหล่งโบราณคดีค่ายประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยใช้หลักฐานที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2541 ตัวอย่างประกอบด้วยชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ จำนวน 3,780 ชิ้น จากหลุมขุดค้นที่อยู่ในสภาพรบกวน และโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 6 โครง รวมจำนวนโครงกระดูกที่ประเมินได้น้อยสุด (MNI-Minimum Number of Individual) จำนวน 38 โครง แบ่งเป็นโครงกระดูกในชั้นวัฒนธรรมที่ 1 จำนวน 23 โครง และโครงกระดูกในชั้นวัฒนธรรมที่ 2 จำนวน 15 โครง
ผลการวิเคราหะโครงกระดูกมนุษย์เบื้องต้นจากการประเมินค่าอายุเมื่อตายพบเป็นทารกและเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี จำนวน 10 โครง เด็กและวัยรุ่นมีอายุประเมินเมื่อตายระหว่าง 5-15 ปี จำนวน 9 โครง และผู้ใหญ่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายมากกว่า 15 ปีขึ้นไป จำนวน 19 โครง โดยสามารถจำแนกได้เป็นเพศหญิง 10 โครง เพศชาย 3 โครง และไม่สามารถประเมินเพศได้ 6 โครง เพศหญิงมีความสูงโดยเฉลี่ย 142.5 เซนติเมตร ส่วนเพศชายไม่พบชิ้นส่วนกระดูกเพศชายที่นำมาใช้ประเมินได้
รูปแบบพิธีกรรมการฝังศพประกอบด้วย 2 รูปแบบหลักคือ 1) การฝังศพครั้งแรก พบทั้งการวางศพนอนหงายเหยียดยาว วางของอุทิศให้ศพ และการใช้เส้นใยทอจากเปลือกไม้และเครื่องจักสานพันห่อศพ วางของอุทิศให้ศพ สุมไฟเผาก่อนกลบหลุมฝังศพ และ 2) การฝังศพครั้งที่ 2 เป็นการนำชิ้นส่วนกระดูกบางชิ้นจากโครงกระดูกมากกว่า 1 โครง มาห่อรวมกันในผ้าทอ แล้ววางไว้ระหว่างแผ่นไม้ 2 แผ่น ก่อนทำการเผาห่อกระดูกและกลบหลุมฝังศพ ท้ายสุดพบมีระบบการจัดระเบียบสังคมในระดับชนเผ่า นิยมการฝังศพเป็นกลุ่มครอบครัว โดยฝังศพสมาชิกรวมกันโดยไม่แบ่งแยกเพศและอายุเมื่อตาย