มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

รูปแบบการสึกของฟันกับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี

ชื่อเรื่อง
รูปแบบการสึกของฟันกับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้แต่ง
วาทินี ถนอมพลกรัง
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2017
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอผลการศึกษารูปแบบการสึกและแบบแผนการบริโภคจากร่องรอยการสึกขนาดเล็กบนผิวฟัน (dental microwear) ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดอายุประมาณ 3,800-4,000 ปีมาแล้ว

ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1) ตัวอย่างฟันกรามล่างซี่ที่ 1 หรือ 2 ที่ยังคงติดอยู่กับกระดูกขากรรไกรล่างของประชากรสมัยหินใหม่ โครงกระดูกผู้ใหญ่ 13 โครง จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร พ.ศ. 2557-2558 และ 2) ตัวอย่างฟันกรามล่างซี่ที่ 1 ของประชากรปัจจุบัน 2 กลุ่มคือกลุ่มบริโภคเนื้อสัตว์เป็นหลักและกลุ่มบริโภคพืชเป็นหลักรวมจำนวน 10 คน เพื่อเปรียบเทียบร่องรอยการสึกขนาดเล็กบนผิวฟันด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงชนิด Stereo Microscope กำลังขยาย 50X, 100X และ 200X

ผลการศึกษาพบว่าประชากรสมัยหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรมีรูปแบบร่องรอยการสึกของฟันแบบผสมระหว่างรอยขูดขีด (scratch) เป็นเส้นตรงยาววางตัวในทิศทางต่างๆ และรอยหลุม (pit) มีความกว้างหรือยาวในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน มีร่องรอยการสึกลักษณะเป็นหลุมกว้างและพื้นผิวขรุขระที่สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดเช่นผลไม้รสเปรี้ยวต่าง ๆ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างประชากรปัจจุบัน พบว่ามีรูปแบบร่องรอยการสึกของฟันคล้ายกับกลุ่มบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่ากลุ่มบริโภคพืช เนื่องจากพบรอยขูดขีดมากกว่ารอยหลุม นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าประชากรสมัยหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร มีแบบแผนการบริโภคอาหารมีเส้นใยค่อนข้างหยาบและแข็ง และมีรูปแบบการดำรงชีพแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ผสมกับการเพาะปลูกพืช

เอกสารฉบับเต็ม