มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

THE EXCAVATION OF KHOK PHANOM DI A PREHISTORIC SITE IN CENTRAL THAILAND VOLUME V: THE PEOPLE

ชื่อเรื่อง
THE EXCAVATION OF KHOK PHANOM DI A PREHISTORIC SITE IN CENTRAL THAILAND VOLUME V: THE PEOPLE
ผู้แต่ง
แนนซี จี เทย์เลส
ประเภทเอกสารวิชาการ
รายงานวิจัย
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1999
วันที่
เผยแพร่
The Society of Antiquaries of London
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

พิกัดภูมิศาสตร์ UTM – WGS 84: 48 331847E, 1674292N (ละติจูด 15° 08’ 20.1” เหนือ ลองจิจูด 103° 26’ 06.2” ตะวันออก)
สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 230 เมตร จุดสูงสุดของเนินอยู่ทางด้านทิศเหนือ สูงประมาณ 12 เมตรจากพื้นนาโดยรอบ ตั้งห่างจากแม่น้ำบางปะกง 8 กิโลเมตรและห่างจากแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยประมาณ 22 กิโลเมตร บนเนินดินปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นและไม้พุ่มค่อนข้างหนาแน่น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรหมู่ที่ 3 บ้านโคกพนมดี พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มใช้ปประโยชน์ในการทำนาข้าว ทางด้านทิศใต้ห่างออกไป 7 กิโลเมตรเป็นเนินเขาฟิลไลด์ ชื่อเขาคีรีรมย์ แหล่งน้ำในบริเวณนี้นอกจากแม่น้ำบางปะกงแล้ว ยังมีลำน้ำเก่าไหลจากเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราลงสู่แม่น้ำบางปะกงในเขตอำเภอบ้านโพธิ์ (กรมศิลปากร 2531, 296)

ประวัติการขุดค้น
แหล่งโบราณคดีโคกพนมดีได้รับการอ้างถึงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2483 ในหนังสือเรื่อง “เมืองพนัสนิคม” ต่อมามีการสำรวจโดยคณะทำงานด้านโบราณคดีในปี พ.ศ. 2516, 2521, และ 2521-2522 และการขุดค้นในปี พ.ศ. 2522, 2525 และ 2527-2528 โดยการขุดค้นครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2527-2528 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ และกรมศิลปากร ดำเนินงานระหว่างเดือนธันวาคม 2527 – เดือนกันยายน 2528 ภายใต้ความควบคุมของ ดร.รัชนี ทศรัตน์ (บรรณานุรักษ์) ผู้อำนวยการโครงการฝ่ายไทยและ ศ.ดร.ชารล์ ไฮแอม ผู้อำนวยการโครงการฝ่ายนิวซีแลนด์

จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก

การขุดค้นระหว่างปี พ.ศ. 2527-2528 พบตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์รวมทั้งสิ้น 154 โครง จำแนกออกตามลำดับชั้นการฝังศพ (Mortuary Phrase - MP) เป็น 7 ลำดับด้วยกัน คือ MP1 พบหลักฐานรวม 6 โครง, MP2 พบรวม 56 โครง, MP3 พบรวม 42 โครง, MP4 พบรวม 29 โครง, MP5 พบรวม 4 โครง, MP6 พบรวม 12 โครง และ MP7 พบรวม 5 โครง


โครงกระดูกทั้งหมดวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการภาควิชากายวิภาคศาสตร์และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโอทาโก วิเคราะห์โดยนักมานุษยวิทยากายภาพอย่างประพิศ พงษ์มาศ (ชูศิริ) (2534; Choosiri 1988) Roy (1986), McGill (1986), Pollock (1987) และ Nancy G. Tayles ในประเด็นเฉพาะแต่ละด้านที่ต่างกัน

ลักษณะทางประชากรศาสตร์สมัยโบราณ

ข้อมูลประชากรศาสตร์โบราณตัวอย่างแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี พบว่าทารกหรือประชากรมีอายุเมื่อตายต่ำกว่า 2 ปี เป็นกลุ่มที่พบหนาแน่นสุดรวม 72 โครง ราวร้อยละ 46.75 รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20-35 ปี (42 โครง ราวร้อยละ 27.27) ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 35-50 ปี (17 โครง ราวร้อยละ 11.04) เด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี และวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-20 ปีไล่เรียงตามลำดับ ประชากรเพศชายและหญิงพบใกล้เคียงกัน ในอัตราเปรียบเทียบเพศหญิง 1.12 คนต่อชาย 1 คน


โดยเฉลี่ยทั้งหมดมีค่าอายุขัยคาดคะเนแรกเกิดหรือค่าอายุประเมินเมื่อตายราว 14.37 ปี เด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี มีอัตราการมีชีวิตรอดถึงอายุ 15 ปีราว 0.44 เท่านั้น แต่ภายหลังเติบโตถึงอายุ 15 ปีแล้ว มีค่าอายุประเมินเมื่อตายประมาณ 30.47 ปี เพศหญิงมีค่าอายุประมาณ 32.17 ปี มากกว่าเพศชายที่มีอายุประเมินเมื่อตายราว 28.56 ปี ลักษณะ preauricular groove และ pregnancy pitting ด้านหลังของกระดูกหัวเหน่า ที่พบค่อนข้างหนาแน่นของเพศหญิงแสดงถึงสภาวะการตั้งครรภ์หรือความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างดี

ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณโคกพนมดี ตามเพศและค่าประเมินอายุเมื่อตาย
อายุ/ เพศเพศชายเพศหญิงจำแนกเพศไม่ได้รวม
ทารก (0-2 ปี) 7272
เด็ก (2-12 ปี) 1414
วัยรุ่น (12-20 ปี)53 8
วัยหนุ่ม (20-35 ปี)2220 42
วัยกลางคน (35-50 ปี)512 17
วัยสูงอายุ (มากกว่า 50 ปี) 1 1
รวม323686154

ที่มา: Tayles, N.G., The Excavation of Khok Phanom Di, A Prehistoric Site in Central Thailand Volume V: The People. (London: The Society of Antiquaries of London, 1999), 323-339.

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ

ลักษณะทางกายภาพของกะโหลกศีรษะ ตัวอย่างจากโคกพนมดี ดรรชนี cranial ทั้งสองเพศมีลักษณะกะโหลกสั้นและกว้าง (brachycranic) มีลักษณะค่อนข้างสูง มีใบหน้ากว้างโดยเฉพาะช่วงโหนกแก้มและขากรรไกรบน กระดูกขากรรไกรล่างกว้าง ใหญ่แต่สั้น และมีการยื่นของใบหน้าเล็กน้อย ส่วนฟันชุดขากรรไกรบนค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับชุดฟันขากรรไกรล่าง ทำให้มีการยื่นของฟันบนเล็กน้อยเช่นกัน


ทั้งนี้ เพศชายมีลักษณะทางกายภาพค่าการวัดกะโหลกตามจุดกำหนดต่างๆ กว้าง ใหญ่ และสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นความกว้างของช่องจมูกและลักษณะที่เกี่ยวพันกับการยื่นของใบหน้าอย่างค่าความยาวของ basion-prosthion และความกว้างของ ramus กระดูกขากรรไกรล่างที่เพศหญิงแม้จะมีขนาดต่างกับเพศชายแต่ก็ไม่พบนัยสำคัญทางสถิติอย่างใด

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา

การประเมินความสูงของประชากร ศึกษาจากตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ที่มีการเชื่อมของก้านกระดูกและส่วนเชื่อมต่อแล้วเสร็จรวม 66 โครง ราวร้อยละ 42.86 จำแนกเป็นเพศชาย 30 โครงและหญิง 36 โครง คำนวณตามค่าสมการไทยจีน (สรรใจ แสงวิเชียรและคณะ 2528) พบเพศชายมีความสูงราว 153.8 – 171.9เซนติเมตร มีความสูงเฉลี่ย 162.3 เซนติเมตร สูงกว่าเพศหญิงที่มีค่าความสูงเฉลี่ย 154.3 เซนติเมตร และมีความสูงราว 141.1 – 163.2 เซนติเมตร


การประเมินน้ำหนักตัวด้วยการคำนวณขนาดเส้นรอบวงก้านกระดูกต้นขา ตาม “ค่าสมการ = 1.839 x LOG10 (circumference of femur) + 1.172 (r = 0.85; PE% = 7)” (Hartwig – Scherer 1993; อ้างถึงใน Tayles 1999, 70) โดยเฉลี่ยเพศชายมีน้ำหนักตัวระหว่าง 48.1 - 63.2 กิโลกรัม มีค่าเฉลี่ยราว 54.7 กิโลกรัม หนักกว่าเพศหญิงซึ่งมีค่าน้ำหนักตัวระหว่าง 39.7 – 59.5 กิโลกรัม และมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 46.6 กิโลกรัม


ประชากรโคกพนมดีมีสัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกปลายแขนด้านนอกสั้นกว่ากระดูกต้นแขน มีความยาวของกระดูกหน้าแข้งสั้นกว่ากระดูกต้นขา และมีสัดส่วนความยาวของกระดูกแขนสั้นกว่าความยาวรวมของกระดูกขา โดยภาพรวมเพศชายมีขนาดกระดูกแขนขากว้าง ยาว และหนากว่าเพศหญิง ทั้งสองเพศมีขนาดกระดูกต้นแขนด้านขวาใหญ่กว่าด้านซ้าย เพศชายมีขนาดกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในด้านขวายาวกว่าด้านซ้ายเช่นกัน ส่วนกระดูกความยาวช่วงขาทั้งกระดูกต้นขาและหน้าแข้งทั้งสองเพศ ด้านซ้ายมีความยาวมากกว่าด้านขวา เพศชายมีความหนาของกระดูกต้นขาด้านซ้าย เมื่อวัดจากด้านใกล้กลาง – ไกลกลางและความหนาวัดจากด้านหน้า - ด้านหลังของกระดูกหน้าแข้งซ้ายมากกว่าด้านขวาต่างกับเพศหญิงที่มีค่าความหนาวัดจากด้านหน้า – ด้านหลังของกระดูกหน้าแข้งด้านขวามากว่าด้านซ้าย ลักษณะความแตกต่างและความไม่สมมาตรเหล่านี้เป็นด้วยสภาวะทางโภชนาการ การออกกำลัง และรอยเกาะกล้ามเนื้อ สื่อถึงลักษณะการแบ่งงานของเพศทั้งสองได้นัยหนึ่ง

ร่องรอยของโรคในสมัยโบราณ

ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่าตัวอย่างโครงกระดูกโคกพนมดีเป็นตัวอย่างที่ทำการวิเคราะห์หลายครั้ง รายงานนี้จึงเน้นที่ประเด็นความสมบูรณ์ของสุขภาพ (health) เป็นพิเศษ ศึกษาจากร่องรอยสภาวะความสมบูรณ์ของการเจริญเติบโต ร่องรอยที่แสดงถึงสภาวะการชะงักงันของการเจริญเติบโต และอัตราการตายในกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกทารก เด็ก และวัยรุ่น รวมถึงการศึกษาจากมวลกระดูก สภาวะความสมบูรณ์หรือภาวะการเจริญพันธุ์ และค่าอายุขัยในกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ วิเคราะห์ร่วมกับลักษณะร่องรอยของโรคสมัยโบราณที่ปรากฎ


เบื้องต้นจากร่องรอยสภาวะการมีบุตรที่ปรากฎบนกระดูกเชิงกรานเพศหญิงที่มีอายุประเมินเมื่อตายน้อยที่สุดราว 19 ปี ร่วมกับข้อมูลโบราณคดีชาติพันธุ์วิทยาศึกษาจากเผ่ากุงหรือบุชแมนในอัฟริกาใต้ซึ่งมีรอบวงจรจากการมีประจำเดือนครั้งแรกสู่การแต่งงานของหญิงสาวประมาณ 4 ปี พบว่าเพศหญิงจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีน่าจะมีประจำเดือนครั้งแรกในช่วงวัยระหว่าง 15 -16 ปี


ลักษณะสภาวะการชะงักงันของการเจริญเติบโตศึกษาด้วย Harris line จากเทคนิครังสีวิทยา กระดูกหน้าแข้งของโครงกระดูกทารกและเด็ก 10 โครง โครงกระดูกผู้ใหญ่เพศหญิง 20 โครง และชาย 24 โครง พบว่าโครงกระดูกทารกและเด็ก ราวร้อยละ 80 หรือ 8 ใน 10 โครง ปรากฎลักษณะดังกล่าวในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงราว 3 ปี ส่วนกรณีโครงกระดูกผู้ใหญ่นั้น 42 จาก 44 โครง หรือร้อยละ 95.45 ปรากฏลักษณะดังกล่าวแต่พบความถี่เพียงเส้นเดียวหรือในบางช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น


ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเพศชายพบสภาวะดังกล่าวราวอายุ 1 - 2 ปี พบหนาแน่นอีกครั้งเมื่ออายุ 10 ปี และพบหนาแน่นที่สุดในช่วง 13 ปี ขณะที่เพศหญิงพบหนาแน่นในช่วงอายุ 2, 8-9 และ 11 ปี กับพบเป็นช่วงต่อเนื่องแตกต่างจากเพศชายซึ่งมักพบลักษณะดังกล่าวในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และถึงแม้ว่าประชากรโคกพนมดีจะพบลักษณะ Harris line ในความถี่ค่อนข้างมาก แต่ก็ปรากฏโดยเฉลี่ย 1 เส้นต่อคนเท่านั้น กับพบเป็นเพียงบางช่วงเวลาไม่ได้สบกับสภาวะดังกล่าวต่อเนื่องอย่างใด


ความไม่สมบูรณ์ของเคลือบฟัน (Dental Enamel Hypoplasia) และความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นกับฟัน ทั้งสีของเคลือบฟัน (discoloration) และความหนาแน่น (opacities) ของเคลือบฟันผิดปกติ อันเป็นความไม่สมบูรณ์ของสภาวะโภชนาการที่เกิดขึ้น สำหรับโครงกระดูกผู้ใหญ่ พบลักษณะดังกล่าวราวร้อยละ 71 หรือประมาณ 37 โครง และราวร้อยละ 38 หรือประมาณ 20 โครงพบลักษณะดังกล่าวมากกว่าหนึ่งอาการ โดยพบส่วนใหญ่ในชุดฟันบน ทั้งฟันตัด ฟันเขี้ยว ฟันกรามซี่ที่ 2 และฟันกรามซี่ที่ 3 ส่วนมากลักษณะเส้นความไม่สมบูรณ์ของเคลือบฟัน (Line Enamel Hypoplasia – LEH) มักเกิดขึ้นในวัยเด็ก พบหนาแน่นในอายุระหว่าง 3-4 ปี และไม่พบความแตกต่างอย่างใดเมื่อเปรียบเทียบความถี่ของ LEH ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี และกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายมากกว่า 30 ปี


การศึกษาโครงกระดูกเด็กทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ ฟันน้ำนมส่วนใหญ่จะปรากฎลักษณะความผิดปกติของสีเคลือบฟันและ discrete enamel hypoplasia ส่วนฟันแท้พบ LEH เป็นส่วนใหญ่ราวร้อยละ 40-50 ตามแบบที่พบในโครงกระดูกผู้ใหญ่ โดยภาพรวมทั้งหมด ลักษณะของ LEH ที่เกิดขึ้นในตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดีกว่าร้อยละ 80 นั้นแสดงถึงปัญหาทางโภชนาการ การขาดสารอาหารเป็นหลัก นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นได้ด้วยอาการของโรคติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นกับแม่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน


อัตราการตายของทารกและเด็ก พบราวร้อยละ 41 ของทั้งหมด หรือราวร้อยละ 60 ของตัวอย่างโครงกระดูกทารกและเด็กมีค่าอายุประเมินเมื่อตายต่ำกว่า 1 ปี ขณะที่ร้อยละ 48 ของทั้งหมด หรือร้อยละ 86 ของทารกและเด็กตายเมื่ออายุน้อยกว่า 5 ปี แสดงว่าโครงกระดูกทารกและเด็กจากโคกพนมดีมีอัตราการตายสูงและมีอัตราการอยู่รอดต่ำ สรุปได้ว่ากรณีโคกพนมดี สภาพทุพโภชนาการหรือการขาดสารหรือธาตุอาหารอย่างพอเพียงเป็นปัญหาสำคัญของประชากร นอกเหนือจากภาวะโรคติดเชื้อต่างๆ ส่งผลให้มีอัตราการตายของทารกและเด็กค่อนข้างสูงซึ่งหากทารกและเด็กรอดจากการเสียชีวิตภายหลังที่มีอายุมากกว่า 1 ปีแล้วนั้นมีแนวโน้มที่จะสบกับสภาวะดังกล่าวบางช่วง โดยเฉพาะช่วงระหว่าง 2-4 ปี ดังปรากฎทั้งลักษณะเส้น Harris และ LEH แต่เป็นเฉพาะในบางปีหรือบางฤดูกาลเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะการขาดแคลนอาหารหรือประสบสภาวะดังกล่าวเรื้อรังอย่างใด


ค่าอายุขัยหรือค่าเฉลี่ยเมื่อตายในกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยเพศหญิงมีค่าอายุยืนกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโครงกระดูกที่มีอายุยืนระหว่างปี 40 – 54 ปี ส่วนการศึกษาดรรชนีความหน้าด้านนอกของกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 (นิ้วชี้) โครงกระดูกผู้ใหญ่จำนวน 55 โครง แบ่งเป็นเพศชาย 26 โครงและเพศหญิง 29 โครง พบว่าทั้งสองเพศมีค่าดรรชนีอยู่ระหว่าง 60 และเพศหญิงมีการลดลงของดรรชนีดังกล่าวสัมพันธ์กับช่วงอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งค่าอายุขัย ความหนาของกระดูก และสภาวะความสมบูรณ์ในการมีลูกของเพศหญิงแสดงถึงสภาวะโภชนาการที่ดีของตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ในระดับหนึ่ง

การศึกษาร่องรอยโรคโบราณหรือโบราณพยาธิวิทยา ลักษณะกระดูกพรุนตรงเบ้าตา หรือ cribra orbitalia ซึ่งเกิดขึ้นจากจำนวนหรือคุณภาพของเลือดไม่ดีเพียงพอ (โลหิตจาง) ในกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกเด็กและวัยรุ่นอายุระหว่าง 1-14 ปี จำนวน 13 โครงนั้น ปรากฎลักษณะดังกล่าวจำนวน 10 โครง หรือราวร้อยละ 77 และพบราวร้อยละ 5 หรือ 3 จาก 57 ตัวอย่างสำหรับกรณีโครงกระดูกผู้ใหญ่ ในโครงกระดูกเด็ก 4 จาก 8 ตัวอย่างพบการขยายของ nutrient foramina ผิดปกติ อันเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจางอย่างธาลัสซีเมียและโรคโลหิตจางเพราะมีเซลล์รูปพระจันทร์เสี้ยวจำนวนมากในเลือด (sickle-cell anemia) ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงลักษณะร่องรอยของโรคทั่วไปทั้งลักษณะนิ้วล็อกที่ส่วนกลางและปลายของกระดูกนิ้วเชื่อมต่อกัน ร่องรอยการบาดเจ็บของกระดูก (trauma) ร่องรอยเชื่อมสมานของเนื้อกระดูก (healed fracture) ลักษณะการอักเสบในส่วนเยื่อหุ้มกระดูก (periostitis) เนื้อกระดูก (ostelitis) และกระดูกพรุน (osteomylitis) ที่เกิดจากการติดเชื้อเป็นหลัก ถือเป็นร่องรอยของโรคที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มตัวอย่างโคกพนมดี


การวิเคราะห์ศึกษาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโลหิตจาง พบทั้งลักษณะรูพรุนที่เบ้าตา การขยายตัวผิดปกติของกระดูกใบหน้า (hypertrophy of the facial bones) การพรุนของกะโหลกศีรษะ และกะโหลกศีรษะหนาผิดปกติ กรณีตัวอย่างโครงกระดูกเด็กที่พบลักษณะรูพรุนที่เบ้าตานั้นไม่ปรากฎร่วมกับลักษณะอื่นอย่างใด โดยการพรุนของเบ้าตานั้นน่าจะเป็นอาการโลหิตจางเริ่มแรกก่อนลักษณะอื่น (Stuat-Macadam 1989; อ้างถึงใน Tayles 1999, 197) ขณะเดียวกันอาการกะโหลกศีรษะหนาผิดปกติที่พบก็ไม่สามารถบ่งชี้ถึงสภาวะโลหิตจางได้เช่นกัน ส่วนการขยายตัวผิดปกติของกระดูกใบหน้าของทารกที่พบ น่าจะเป็นอาการหนึ่งที่บ่งบอกถึงโลหิตจางที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมียได้และส่งผลต่อเนื่องถึงอาการอื่น


ทั้งนี้เฉลี่ยราวร้อยละ 0.065 ถึงร้อยละ 44 ของประชากรโคกพนมดีมีโอกาสเป็นโลหิตจาง ประเภทธาลัสซีเมียและประเภทอื่นๆ ใกล้เคียงหรือสูงกว่าอัตราการถ่ายทอดพันธุกรรมของโรคดังกล่าวของประชากรไทยปัจจุบัน และธาลัสซีเมียกับโลหิตจางจากสาเหตุอื่นน่าจะเป็นเหตุสำคัญทำให้ประชากรทารกและเด็กของชุมชนโคกพนมดีมีอัตรารอดถึงอายุ 15 ปีเพียง 1 ใน 2.5 เท่าเท่านั้น


การเสื่อมสภาพหรืออาการโรคข้อต่ออักเสบเรื้อรัง (osteoarthritis) กรณีโคกพนมดี พบการเสื่อมสภาพของข้อต่อส่วนโครงสร้างแขนขาในความถี่มากกว่าการเสื่อมของโครงสร้างลำตัวหรือกระดูกสันหลัง การเสื่อมของข้อต่อส่วนโครงสร้างแขนขาเกิดขึ้นกับตัวอย่างเพศชายอายุน้อยกว่าเพศหญิง ส่วนการเสื่อมของกระดูกสันหลังพบว่ามีความสัมพันธ์กับช่วงอายุของเพศหญิงมากกว่าชาย เพศชายพบการเสื่อมสภาพของสันหลังมากกว่าหญิง เพศหญิงที่มีอายุน้อยจะพบการเสื่อมในส่วนกระดูกสันหลังช่วงเอวมากสุด แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นจะพบการเสื่อมเพิ่มในกระดูกสันหลังช่วงลำตัวตอนล่าง ขณะเพศชายทั้งที่อายุน้อยและมากพบการเสื่อมสภาพทั้งในกระดูกสันหลังช่วงลำตัวตอนล่างและช่วงเอว


ร่องรอยผิดปกติที่พบจากฟัน เริ่มจากโรคฟันผุ ศึกษาจากโครงกระดูกผู้ใหญ่ 67 โครง จำแนกเป็นเพศชาย 31 โครงและเพศหญิง 36 โครง รวมจำนวนฟันทั้งหมด 1,188 ซี่ พบร่องรอยฟันผุอย่างน้อย 1 ซี่ในตัวอย่าง 39 โครงหรือร้อยละ 58 จากตัวอย่างที่ศึกษาได้ จำแนกเป็นเพศชาย 15 โครงและหญิง 24 โครง ตัวอย่างเพศหญิงมีอาการของฟันผุมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี พบอาการดังกล่าวราวร้อยละ 5 ส่วนใหญ่พบในฟันกรามและมากกว่าครึ่งพบในฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุเมื่อตายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี พบอาการฟันผุมากขึ้นเป็นร้อยละ 17 ส่วนใหญ่พบในฟันกรามและพบในฟันกรามซี่ที่ 3 เป็นจำนวนมากที่สุดราวร้อยละ 28 เช่นกัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างเด็ก พบร่องรอยของโรคฟันผุจากฟันน้ำนมใน 6 จาก 18 โครง และจากฟันแท้ 4 จาก 10 โครง


การสึกของฟัน ศึกษาจากฟันแท้ โครงกระดูกผู้ใหญ่ โดยจำแนกระดับการสึกของฟันเป็น 8 ระดับ ตามวิธีการของ Molnar (1971) พบราวร้อยละ 30 หรือ 20 โครง มีการสึกของฟันในระดับ 6-8 (สึกมาก) แบ่งเป็นเพศชาย 8 โครงและหญิง 12 โครง เมื่อจำแนกตามจำนวนของฟันที่สามารถศึกษาได้รวม 1,272 ซี่ มีฟันจำนวน 112 ซี่หรือร้อยละ 9 สึกในระดับมาก แบ่งเป็นฟันของเพศชาย 77 ซี่ และเพศหญิง 35 ซี่ เพศชายมีจำนวนการสึกของฟันมากกว่าหญิงอย่างมีนัยสำคัญ (เมื่อศึกษาจากจำนวนของฟัน) ในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุเมื่อตายน้อยกว่า 40 ปี จำนวน 11 โครง พบการสึกเฉลี่ยในฟันทุกประเภทราวร้อยละ 34 พบมากสุดในฟันเขี้ยว (42%) ฟันกรามน้อย (37%) ฟันแท้ (31%) และฟันตัด (26%) ไล่เรียงตามลำดับ ส่วนในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุเท่ากับหรือมากกว่า 40 ปี จำนวน 9 โครง พบการสึกเฉลี่ยในฟันทุกประเภทราวร้อยละ 38 พบมากสุดในฟันเขี้ยว (58%) ฟันกรามน้อย (40%) ฟันแท้ (32%) และฟันตัด (32%) ไล่เรียงตามลำดับเช่นกัน


อาการของโรคปริทนต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ (periodontal disease) พบลักษณะรู (porosity) และการกลับละลายของเบ้าฟัน (resorption) หนาแน่นในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายมากกว่า 40 ปี จำนวน 9 โครง จำแนกเป็นเพศชาย 2 โครงและหญิง 7 โครง รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายระหว่าง 30-39 ปี จำนวน 19 จาก 22 โครง (ร้อยละ 86) แบ่งเป็นเพศชาย 11 จาก 13 โครงและเพศหญิง 8 จาก 9 โครง กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายระหว่าง 20-29 ปี พบจำนวน 14 จาก 22 โครง (ร้อยละ 70) แบ่งเป็นเพศชาย 7 จาก 9 โครง และหญิง 7 จาก 11 โครง และพบน้อยที่สุดในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 15-19 ปี โดยพบจำนวน 2 จาก 6 โครงหรือราวร้อยละ 33 ส่วนคราบหินปูน (calculus) เป็นการยากในการจำแนกออก ด้วยเพราะมีการพอกหรือการเพิ่มมากขึ้นของคราบหินปูนที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามพบหลักฐานอาการดังกล่าวใน 14 โครงกระดูกเป็นเพศชาย 10 โครงและหญิง 4 โครงเท่านั้น


การอักเสบหรือการติดเชื้อโดยรอบปลายแหลมของรากฟัน (periapical inflammations) สังเกตได้จากรูหรือโพรงที่ปรากฎบริเวณรากฟัน ศึกษาเฉพาะในฟันแท้ พบลักษณะดังกล่าวในตัวอย่าง 37 จาก 67 โครง หรือราวร้อยละ 55 โดยพบในเพศชายจำนวน 16 โครง (ร้อยละ 52) และเพศหญิง 21 โครง (ร้อยละ 58) ไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุน้อยกว่า 30 ปี พบอาการอักเสบส่วนใหญ่เฉพาะในฟันเขี้ยวและฟันกราม ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุเท่ากับหรือมากกว่า 30 ปี พบอาการดังกล่าวในฟันทุกประเภท พบหนาแน่นในฟันกรามน้อย ฟันกราม ฟันตัด และฟันเขี้ยวตามลำดับ


การหลุดหรือการสูญเสียของฟันในช่วงก่อนการเสียชีวิต (ante-mortem tooth loss) ซึ่งเกิดด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งการอักเสบของฟัน การหลุดหรือการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน การถอนฟัน ฯลฯ พบในตัวอย่าง 34 จาก 67 โครง หรือราวร้อยละ 51 พบในชาย 10 โครง (ร้อยละ 32) และหญิง 24 โครง (ร้อยละ 67) โดยกลุ่มตัวอย่างอายุน้อยกว่า 30 ปี พบการสูญเสียของฟันส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับฟันกรามซี่ที่ 3 (ร้อยละ 46) ฟันกรามซี่ที่ 2 (ร้อยละ 21) ฟันกรามน้อย (ร้อยละ 15) และฟันตัดกับฟันเขี้ยว (อย่างละร้อยละ 8) ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าอายุเท่ากับหรือมากกว่า 30 ปี พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับฟันกรามซี่ที่ 2 (ร้อยละ 31) ฟันกรามซี่ที่ 3 ฟันกรามน้อย และฟันตัด (อย่างละร้อยละ 21) และฟันเขี้ยว (ร้อยละ 6) ตามลำดับ


โดยภาพรวมด้านสุขภาพฟันของตัวอย่างจากโคกพนมดี พบอัตราของโรคฟันผุ การอักเสบของเหงือก และการอักเสบของฟันในระดับสูงเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของตัวอย่าง เพศหญิงมีสุขภาพฟันแย่กว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ และสุขภาพฟันของประชากรจากโคกพนมดีมีลักษณะแย่หรือมีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

การศึกษาสาเหตุของโรคและระบาดวิทยา: บทวิเคราะห์เกี่ยวกับโรคและสุขภาพ

จากหลักฐานกระดูกสัตว์ อาหารจำพวกโปรตีนและไขมันของประชากรโคกพนมดีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของหอยที่พบได้ทั่วไปตามหนองน้ำป่าโกงกาง และตามแนวชายหาด เช่น หอยแครง หอยกาบ ฯลฯ ปูทะเล รวมถึงปลาน้ำจืดและปลาทะเลเป็นหลัก รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับป่าโกงกาง ปากแม่น้ำ และห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ซึ่งพบมากที่สุดคือ หมู ส่วนสัตว์ตระกูลวัวควาย เก้งกวาง แมว ชะมด นาก และนกน้ำบางชนิด พบแต่จำนวนน้อยเท่านั้น ส่วนอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต น่าจะได้จากข้าว (ปลูก) ตามฤดูกาลและพืชผลอื่น เช่น พืชตระกูลปาล์มอย่างมะพร้าว กระจับ ฯลฯ ที่เติบโตขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งให้สภาวะโภชนาการสมบูรณ์ทั้งแป้ง (คารโบไฮเดรต) พืชผักผลไม้ (สารอาหารและวิตามิน) โปรตีนและไขมันที่ได้จากสัตว์บก ปลากับหอยน้ำจืดและน้ำทะเล


กระนั้นก็ตาม สภาวะความสมบูรณ์ของโภชนาการบางส่วนก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยทางวัฒนธรรมในรูปของข้อห้ามหรืดข้อกำหนดต่างๆ อ้างจากการศึกษาชาติพันธ์วรรณาทางโบราณคดี พบว่าบางสังคมในไทย พม่า มาเลเซีย และกัมพูชาบางส่วนมีข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ห้ามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่างๆ อย่างผักใบเขียว ไข่ อาหารทะเล เนื้อ ฯลฯ ส่งผลให้อาหารที่ได้รับมีเพียงคาร์โบไฮเดรตจากข้าว เกลือ และผลไม้บางประเภทเท่านั้น และนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทารกและเด็กจากชุมชนโคกพนมดีมีอัตราการเสียชีวิตสูง และมีสภาวะโภชนาการต่ำก็เป็นได้


ด้านสุขอนามัยและสุขภาพ เบื้องต้นพบว่าโลหิตจางเป็นสภาวะที่พบราวร้อยละ 40 ในกรณีตัวอย่างประชากรจากโคกพนมดี และพบอย่างแพร่หลายในเขตพื้นที่ร้อนชื้นทั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน กรณีของไทย (ปัจจุบัน) พบว่าโลหิตจางนั้นเกิดด้วยสภาวะการขาดธาตุเหล็กเป็นสำคัญ ส่งผลให้จำนวนฮีโมลโกลบินในเลือดต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงจากการที่มีพยาธิปากขออยู่ในลำไส้ทำให้เกิดการเสียเลือดอย่างมาก หรือการติดเชื้อโรคมาลาเรียแล้วกระจายเข้าสู่เม็ดเลือดเพื่อการแพร่พันธุ์ ส่งผลให้เกิดการทำลายและเกิดสภาวะโลหิตจางตามมา แต่กรณีโคกพนมดี สภาวะโลหิตจางพบแพร่หลายในทุกวัยและทุกเพศน่าจะเป็นสภาวะหรืออาการหนึ่งที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของธาลัสซีเมียในสายอัลฟา, HbE (ฮีโมลโกลบิน อี) หรือความพร่องของเอนไซม์ G6PD เป็นสำคัญมากกว่าสาเหตุอื่น


โรคติดเชื้อก็เป็นสาเหตุสำคัญเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมดั้งเดิม กับข้อมูลระบาดวิทยาในปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าประชากรจากโคกพนมดีมีโอกาสเจ็บป่วย หรือตายด้วยอาการและโรคทั้งมาลาเรีย โลหิตจาง และโรคระบบทางเดินอาหารอย่างโรคบิด หรืออหิวาต์ตกโรค รวมถึงโรคความเจ็บปวดอื่นที่เกิดจากพยาธิตัวกลม (พบจากหลักฐานอุจจาระโบราณ หลุมฝังศพหมายเลข 67) และพยาธิตัวตืด เป็นต้น


โรคข้อต่ออักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่พบเป็นอาการของโรคข้อต่ออักเสบเรื้อรังปกติ มีจำนวน 5 โครงที่พบอาการของโรคข้อสันหลังติดตรึง (spondylolysis) โดยภาพรวมประชากรโคกพนมดีทั้งเพศชายและหญิงใช้งานส่วนข้อต่อบริเวณหัวไหล่ มือ หัวเข่า ข้อเท้า และเท้าค่อนข้างหนักและสม่ำเสมอ เพศชายมีการเสื่อมสภาพบริเวณกระดูกสันหลังมากกว่าเพศหญิงในช่วงวัยหนุ่ม เมื่อสูงอายุขึ้นทั้งสองเพศมีการใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่ที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของข้อต่อกระดูกลิ้นปี่ กระดูกซี่โครง และกระดูกไหปลาร้าในระดับใกล้เคียงกัน แต่เพศหญิงดูจะใช้งานหลัง (ส่วนเอว) มากกว่าเพศชาย อันแสดงถึงการแบ่งงานหรือการแบ่งหน้าที่ของเพศในสังคมได้โดยนัยหนึ่ง


เมื่อศึกษาถึงรอยเกาะกล้ามเนื้อและพฤติกรรมการประกอบกิจกรรมของประชากรปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าเพศชายจากโคกพนมดีน่าจะประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหมุนของแขน กับการโค้งงอและการหมุนของหลังเช่น การพายเรือ ขณะที่เพศหญิงน่าจะประกอบกิจกรรมทึ่เกี่ยวกับการก้มและการขึ้นลงของส่วนกระดูกสันหลังอย่างการทำนา การปลูกพืช กับการก้มเก็บหอย และอาจรวมถึงการผลิตภาชนะดินเผาเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการเสื่อมสภาพที่พบจากแขนของเพศชายและหญิง


ภาพรวมสุขภาพของประชากรโคกพนมดี เมื่อพิจารณาจากอัตราการตายที่พบค่อนข้างสูงในตัวอย่างโครงกระดูกแรกเกิด ทารก และเด็ก ที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายไม่เกิน 5 ปี อาจเป็นด้วยสาเหตุการติดเชื้อมาลาเรีย ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะเป็นปัจจัยที่สำคัญ รองลงมาคือปัจจัยสภาวะความไม่สมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรืออาการโลหิตจางซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการพร่องเอนไซม์ G6PD อันเป็นสาเหตุทางพันธุกรรม การขาดสารอาหารหรือสภาพทุพลภาวะทางโภชนาการ อีกกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวอย่างโครงกระดูกแรกเกิดคือประเด็นเรื่องการควบคุมประชากรและการใช้ทรัพยากร ด้วยการฆ่าทารก (infanticide) ซึ่งพบได้ในบางสังคมในอดีต แต่ไม่น่าจะเป็นที่โคกพนมดีเพราะมีการพบวัตถุอุทิศร่วมกับโครงกระดูกเด็กแรกเกิดเหล่านี้


ส่วนการตายของโครงกระดูกผู้ใหญ่ อาจเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อแบบเดิมและสภาวะความไม่สมบูรณ์ของเลือด และเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี ปัญหาเรื่องการสูญเสียฟันและกับการเสื่อมสมรรถภาพในการประกอบกิจกรรม น่าจะส่งผลให้สภาวะโภชนาการต่ำลง ส่งผลให้มีค่าเฉลี่ยของอายุเมื่อตายต่ำกว่าที่ควร

การเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพและสุขภาพของประชากรในแต่ละช่วงสมัย

ลักษณะกายภาพและสุขภาพของประชากร เปรียบเทียบระหว่างสมัยต้น (MP1-3) และสมัยปลาย (MP4-7) พบว่าลักษณะทางกายภาพของกะโหลกศีรษะบนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่ความกว้างของส่วนจมูก (nasal breath) และ bimaxillary ของเพศหญิงในสมัยปลายกว้างกว่าเพศหญิงสมัยต้น กระดูกขากรรไกรล่าง เพศหญิงสมัยปลายมีขนาดความกว้างด้านหน้า และมีมุม gonial กว้างกว่าเพศหญิงสมัยต้น กับเพศชายมีขนาดของ ramus แคบกว่าเพศชายสมัยต้น เพศหญิงสมัยปลายมีขนาดพื้นที่รวมของฟันบนมากกว่าเพศหญิงสมัยต้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกระดูกโครงสร้างของร่างกายทั้งแขนขาและแกนลำตัวไม่ปรากฎการเปลี่ยนแปลง


ข้อสังเกตสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม คือ การเปลี่ยนรูปการถอนฟันจากฟันตัดบนคู่หน้า (ซี่ที่ 1) ใน MP3 เป็นการถอนฟันตัดบนซี่ที่ 2 ใน MP4 พบพร้อมกับเครื่องประดับกระดองเต่า ซึ่งเข้ามาพร้อมประชากรกลุ่มใหม่? ขัดแย้งกับข้อมูลการเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพซึ่งไม่พบความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด (Tayles 1999, 286) สัดส่วนความสูงเพศชายสมัยต้นมีความสูงกว่าเพศชายสมัยปลายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเพศหญิงมีความสูงใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยเพศชายสูงกว่าและหนักกว่าหญิงทั้งในสมัยต้นและปลาย และเพศหญิงมีอายุเฉลี่ยเมื่อตายมากกว่าเพศหญิงในทุกสมัยยกเว้นใน MP1


ภาพรวม ประชากรจากโคกพนมดีพบลักษณะความผิดปกติหรือโรคเกี่ยวกับเลือด (haemoglobinopathy) ตั้งแต่สมัย MP1 และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกหรือเด็กแรกเกิดเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนั้นทั้งสภาวะโภชนาการและสุขภาพถือว่าค่อนข้างดี สมัยต่อมาหรือ MP2 อัตราการตายของเด็กแรกเกิดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่จนโตเกินกว่า 1 ปี เกือบทั้งหมดมักรอดและเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิงมีค่าอายุยืนกว่าเพศชาย และทั้งสองเพศก็ประกอบกิจกรรมที่ใช้พลังอย่างมากในแต่ละวัน เพศชายทำงานที่จำเป็นต้องใช้ส่วน (กระดูกสันหลัง) ช่วงบนและหัวไหล่มากกว่าหญิง ความแตกต่างของความถี่ของโรคในช่องปากและโรคฟันที่พบในเพศหญิง แสดงว่าเพศหญิงบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และอาหารที่ทำให้ฟันสึกมากกว่าเพศชาย


สมัย MP3 ถือเป็นสมัยที่เพศชายมีความเจริญเติบโตสุด เพศชายมีความสูงและแข็งแรงกว่าสมัยที่ผ่านมา แต่ก็มักจะเสียชีวิตในช่วงต้นของวัยหนุ่ม สภาวะโลหิตจางเริ่มปรากฏขึ้นในโครงกระดูกผู้ใหญ่ อัตราการตายของทารกสูงคงที่ ส่งผลให้เพศหญิงจำต้องรับภาระการตั้งครรภ์หนักขึ้นเหมือนในสมัยที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริโภคอาหารน่าจะเป็นเช่นเดิมเหมือนที่ผ่านมา ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมัย MP4 ซึ่งประชากรทั้งสองเพศเปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการสึกของฟันสูงมากขึ้นแต่อัตราการผุของฟันลดลง ขณะเดียวกัน อัตราการตายของเด็กแรกเกิดที่ลดลงและการเพิ่มขึ้นของอัตราการตายของเด็กและวัยรุ่น สะท้อนถึงการสูญเสียรูปแบบการยังชีพแบบเดิม นอกจากนี้ประชากรผู้ใหญ่ก็ดูอ่อนแอกว่าเดิมและมักตายในวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่


สมัย MP5-7 ชุมช