โครงกระดูกฝังนอนหงายเหยียดยาวในแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ PSN 2 กริด S13-15E13-14 ระดับชั้นดินสมมติ 110-150 (135-146) cm.dt.
โครงกระดูกส่วนใหญ่ชำรุด กระดูกเปื่อยหลุดร่อน มีรูปแบบการฝังศพด้วยการทุบภาชนะลายเขียนสีแดงบนพื้นนวลและลายขัดมันสีแดงอย่างน้อย 10 ใบวางทับและรองใต้โครงกระดูก พบร่วมกับเศษภาชนะดินเผา กลุ่มดินเทศสีแดงใต้ภาชนะหมายเลข 003 ด้านข้างของกะโหลกศีรษะ หลุมฝังศพนี้ถูกหลุมฝังศพหมายเลข 041 วางซ้อนทับอยู่บางส่วนบริเวณส่วนปลายของโครงกระดูกพบกะโหลกศีรษะของโครงกระดูกหมายเลข 037 ฝังอยู่ (กรมศิลปากร 2535) ทางด้านซ้ายของกะโหลกศีรษะพบการวางขาหมู 2 ขาเช่นเดียวกับทางด้านซ้ายของกระดูกต้นแขนซ้ายที่พบฃกะโหลกศีรษะและขากรรไกรล่างหมูอุทิศให้กับศพ กำหนดอายุฃราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกไม่สมบูรณ์ กระดูกเปื่อย หลุดร่อน และแตกหัก ศึกษาได้ร้อยละ 50-55 ไม่พบในส่วนกระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 4-7 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 1, 10 และ 12 กระดูกสะบ้าซ้าย กระดูกข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือซ้าย และบางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือขวา กระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และกระดูกนิ้วเท้าทั้งซ้ายและขวา กับบางส่วนของกระดูกซี่โครงทั้งสองข้าง
สภาพกระดูกที่พบมีลักษณะชำรุดแตกหักไม่สมบูรณ์ ได้แก่ กะโหลกศีรษะด้านบนบริเวณขมับขวาแตกหัก ก้านกระดูกไหปลาร้าซ้ายด้านเชื่อมต่อกับกระดูกสะบักซ้าย ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ส่วน manubrium ของกระดูกลิ้นปี่ กระดูกซี่โครงทั้งสองข้างที่ไม่สมบูรณ์ ชำรุดหักหาย ก้านกระดูกต้นแขนซ้าย ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกซ้ายและขวา กระดูกเชิงกรานขวา และขอบกระดูกเชิงกรานซ้าย หัวกระดูกต้นขาขวา ปลายกระดูกต้นขาซ้าย ปลายกระดูกกระเบนเหน็บ ก้านกระดูกหน้าแข้งซ้าย หัวกระดูกหน้าแข้งขวา และหัวกระดูกน่องทั้งสองข้าง
ร่องรอยผิดปกติบนกระดูก
1. ก้านกระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา มีรูปทรงกระดูกค่อนข้างผิดปกติ ผิวกระดูกค่อนข้างขรุขระ โดยเฉพาะด้านนอก (anterior) และด้านหลัง (posterior) น่าจะเกิดจากการที่ผู้ตายได้รับบาดเจ็บบริเวณด้านใกล้กลางของกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้าง ส่งผลให้กระดูกเกิดการชำรุดแตกหัก ก่อนที่เนื้อกระดูกจะเติบโตและสมานร่องรอยเหล่านี้ทำให้ทรงของกระดูกมีลักษณะผิดปกติ
2. บริเวณ acromion ของกระดูกสะบักซ้าย มีลักษณะการงอกของกระดูกทับผิวกระดูกเดิม เกิดขึ้นได้ทั้งจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเยื้อหุ้มกระดูกเกิดการอักเสบ
3. ก้านกระดูกหน้าแข้งซ้าย พบร่องรอยการสับตัดลงบนผิวกระดูกที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิต
4. บริเวณกลางก้านกระดูกน่องซ้าย พบลักษณะรูปทรงกระดูกผิดปกติ ขอบผิวด้านนอกค่อนข้างขรุขระจากสาเหตุการสมานของเนื้อกระดูก
5. บริเวณกลางก้านกระดูกน่องขวา พบลักษณะกระดูกมีขนาดใหญ่ (บวม) ผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกระดูกน่องซ้าย นอกจากนี้ยังพบลักษณะขรุขระของผิวกระดูกซึ่งน่าจะเกิดจากสาเหตุการสมานเนื้อกระดูกเช่นเดียวกัน