โครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ PSN 3 กริด S12 E4-6 ระดับชั้นดินสมมติ 120-150 (124-134) cm.dt.
สภาพโดยทั่วไปของกระดูกชำรุดมาก แตกหักหาย พบเพียงบางส่วนของกะโหลกศีรษะบนและด้านข้างของกะโหลก กระดูกขากรรไกรล่าง และบางส่วนของกระดูกยาว ส่วนกระดูกสันหลังและซี่โครงชำรุดมาก หักหายไปส่วนใหญ่ ศพถูกมัดบริเวณหัวเข่า พบร่วมกับห่วงคอเหล็กสามชั้นบริเวณลำคอ ภาชนะดินเผา 1 ใบวางอยู่บริเวณด้านซ้ายปลายเท้าศพ ลูกกระสุนดินเผาและชิ้นส่วนกำไลดินเผาวางปะปนร่วมกับโครงกระดูกในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบกระดูกต้นขาขวา (MNI#015-1) วางทับบนหัวกระดูกปลายขาด้านซ้ายของศพ กำหนดอายุราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่ชำรุด แตกหัก และหาย เฉพาะอย่างยิ่งกะโหลกศีรษะบนและขากรรไกรล่างชำรุด เปื่อยยุ่ย (จากความชื้น) จนแตกหักออกเป็นส่วน พบเฉพาะข้างซ้ายและขวาของกะโหลกศีรษะ กระดูกท้ายทอย และขากรรไกรล่างซ้ายถึงบริเวณส่วนกลาง (คาง) โครงกระดูกที่พบสามารถนำมาใช้ศึกษาได้ราวร้อยละ 10-15 กระดูกส่วนอื่นพบตามสภาพดังนี้คือ กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวาชำรุด พบเฉพาะส่วนหัว (ด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกลิ้นปี่) และกลางก้านกระดูก กระดูกสะบักซ้ายและขวาชำรุด พบเฉพาะส่วนลำตัวของกระดูก กระดูกต้นแขนซ้ายและขวาชำรุด หัวและปลายกระดูกแตกหัก กระดูกปลายแขนด้านนอกขวาและกระดูกปลายแขนด้านในซ้ายและขวา สภาพเกือบสมบูรณ์เว้นแต่ส่วนหัวและปลายกระดูกแตกหัก บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือซ้ายและขวา สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กระดูกซี่โครงสภาพชำรุด ส่วนใหญ่แตกหัก (พบทางด้านซ้ายเป็นหลัก) เช่นเดียวกับกระดูกสันหลังที่พบ ชำรุดแตกหัก กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา สภาพชำรุด พบเฉพาะส่วนลำตัวและเบ้ากระดูก (acetabulum) กระดูกต้นขาซ้ายและขวาชำรุด ส่วนหัวและก้านกระดูกแตกหัก กระดูกสะบ้าซ้ายสภาพสมบูรณ์ กระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องซ้ายและขวา สภาพชำรุด พบเฉพาะส่วนหัวถึงกลางก้านกระดูก ส่วนกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้ายและขวา ไม่พบจากการดำเนินงานแต่อย่างใด
ร่องรอยผิดปกติบนกระดูก
1. กระดูกปลายแขนด้านนอกขวา และกระดูกปลายแขนด้านในซ้าย ตรงสันกลางกระดูกบริเวณ interosseus crest ที่เชื่อมต่อกับแกนกลางของคู่กระดูกปลายแขน (กระดูกปลายแขนด้านนอก-ด้านใน) พบการยื่นหรือการงอกของกระดูกมาก อีกทั้งผิวกระดูกมีลักษณะขรุขระผิดปกติ น่าจะเป็นผลจากเหตุที่ส่วนเนื้อเยื่อกั้นกลางระหว่างกระดูก (interosseus membrane) เกิดการอักเสบหรือถูกใช้งานอย่างหนักและสม่ำเสมอ ส่งผลให้กระดูกดังกล่าวมีขนาดหนา โค้ง และขรุขระมากกว่าปกติ
2. กระดูกต้นขาขวาและซ้าย ด้านหลังกระดูก บริเวณ linea aspera ปรากฏลักษณะสันกระดูกชัดเจน น่าจะเกิดขึ้นด้วยแรงดึงหรือแรงแค้นการกระทำของกล้ามเนื้อ vastus (muscles) และ adductor (muscles) สำหรับการเคลื่อนหมุนเข้าสู่แกนกลางของกระดูกต้นขาและเชิงกราน