โครงกระดูกวางนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 3 กริด S12-13E1-3 ระดับชั้นดินสมมติ 120-160 (124-156) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพชำรุด ไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่แตกหัก เช่น ข้อต่อ หัวกระดูก เป็นต้น ศพน่าจะถูกมัดบริเวณหัวเข่า พบร่วมกับภาชนะดินเผาจำนวน 1 ใบวางอยู่บริเวณปลายเท้า นอกจากนี้ยังพบลูกปัดอาเกตจำนวน 3 ลูกวางรองอยู่ใต้กะโหลกศีรษะบน (ส่วนลำคอ?) ชิ้นส่วนลูกกลิ้งดินเผา ชิ้นส่วนด้ามช้อนดินเผา และชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็กส่วนแกนกั่นและใบเครื่องมือจำนวน 2 ชิ้นวางร่วมในระดับเดียวกับโครงกระดูก กำหนดอายุราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกไม่สมบูรณ์ อีกทั้งโครงกระดูกที่พบส่วนใหญ่ชำรุดแตกหักในหลายส่วน สามารถใช้ศึกษาได้ราวร้อยละ 20-25 โดยพบตามสภาพดังนี้ คือ กะโหลกศีรษะบนพบเฉพาะกระดูกท้ายทอย และบางส่วนของกระดูกข้างกะโหลกศีรษะและกระดูกกกหูซ้ายและขวา ขากรรไกรล่างสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ลำตัวของกระดูกสะบักซ้ายและขวา ก้านกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา บางส่วนของก้านกระดูกปลายแขนด้านนอกและในซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา ส่วน spine ของกระดูกสันหลังช่วงลำตัวและช่วงเอวลำตัวของกระดูกเชิงกรานทั้งสองข้าง แกนกลางก้านกระดูกต้นขาซ้ายและขวา กระดูกสะบ้าซ้ายและขวา หัวและปลายกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องซ้ายและขวา และบางส่วนของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้ายและขวา
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกต้นแขนซ้ายและขวา บริเวณ deltoid tuberosity ลักษณะค่อนข้างใหญ่ผิดปกติ น่าจะเกิดจากการใช้งานส่วนกล้ามเนื้อ deltoid สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหัวไหล่อย่างหนักเป็นประจำหรือสม่ำเสมอ
2. กระดูกปลายแขนด้านนอกขวาบริเวณหัวและแกนกลางด้านหน้ากระดูก กระดูกต้นขาขวา บริเวณด้านหลังแกนกระดูก และส่วนด้านหลังของแกนกระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวา สภาพโดยทั่วไปค่อนข้างชำรุด พบรอยสับตัดอยู่ทั่วผิวกระดูก เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิต
3. กระดูกปลายแขนด้านนอกขวา บริเวณหัวก้านกระดูกด้านใกล้กลาง ใกล้บริเวณ radial tuberosity พบกระดูกงอกผิดปกติ ลักษณะคล้ายรอยโรค (lesion) เบื้องต้นสันนิษฐานได้ใน 2 สาเหตุ คือ 1) อาการของโรคข้อหลอก (pseudoarthritis) เกิดขึ้นภายหลังจากกระดูกเกิดการแตกหักจากสาเหตุการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ แต่กระดูกไม่ได้รับการสมานแผล (non union) เชื่อมต่อเข้าหากันส่งผลให้บริเวณปลายกระดูกที่แตกออกจากกันนั้นปิดตัวเองโดยการสร้างกระดูกงอกขึ้นมาในลักษณะผิดปกติและ 2) เนื้องอกกระดูก (osteochondroma) ประกอบด้วยกระดูกอ่อนและกระดูกอันเป็นผลจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ ในสภาวะที่ไม่รุนแรงหนัก ส่วนบริเวณปลายก้านกระดูกด้านใกล้กลางก็พบลักษณะการงอกของกระดูกผิดปกติเช่นเดียวกับส่วนปลายบนน่าจะเป็นลักษณะร่องรอยเฉพาะบนกระดูกอันเกิดจากเนื้องอกกระดูก(neoplastic disease) ซึ่งสภาวะเนื้อเยื่อภายในเกิดการอักเสบ มีการเจริญเติบโตในลักษณะควบคุมไม่ได้ มีการแพร่กระจายขยายออกไปจากตำแหน่งเดิมไปปิดทับหลอดเลือดและท่อต่อมน้ำเหลืองทำให้ระบบการทำงานปกติถูกทำลาย ดังนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาในกระบวนการหล่อเลี้ยงและสร้างกระดูกเกิดเป็นการงอกของกระดูกอ่อนและกระดูกทับ (Robert and Manchester 2007)
4. กระดูกหน้าแข้งขวา ส่วนกลางกระดูกด้านใกล้กลาง ใกล้บริเวณ nutrient foramen พบการสร้างผิวกระดูกใหม่ทับแนวกระดูกเดิม เกิดขึ้นจากการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูก (periostitis) เป็นอาการหนึ่งที่ปรากฏจากสาเหตุการติดเชื้อจากบาดแผลภายนอกแล้วลามเข้าสู่เลือด ส่งผลให้เกิดการอักเสบ