โครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN1 กริด S4-5E13-15 ระดับชั้นดินสมมติ 120-160 (140-160) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพชำรุด แตกหัก โดยเฉพาะส่วนกะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง และกระดูกปลายขาซึ่งถูกรบกวน ศพถูกมัดบริเวณปลายเท้า ฝังศพด้วยการทุบภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นนวล และภาชนะขัดมันสีแดงจำนวนอย่างน้อย 18 ใบโปรยทับบนตัวศพ ร่วมกับกระโหลกศีรษะหมูจำนวน 2 กะโหลก (ทั้งขากรรไกรล่าง) วางอยู่เหนือศีรษะ ทางด้านซ้ายใต้กะโหลกศีรษะพบเครื่องมือเหล็กประเภทหัวหอกหรือหัวฉมวกและชิ้นส่วนตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์วางร่วมอยู่ในระดับเดียวกับโครงกระดูก กำหนดอายุราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพชำรุดมาก แตกหักหายเป็นส่วนใหญ่ สามารถศึกษาได้ราวร้อยละ 45-50 ไม่พบส่วนกระดูกลิ้นปี่ กระดูกสันหลังช่วงลำคอชิ้นที่ 1-6 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 1-7 และกระดูกสันหลังช่วงสะโพกชิ้นที่ 3-5 กระดูกต้นแขนขวา กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย กระดูกสะบ้า กระดูกน่องซ้ายและขวา กระดูกข้อเท้าและนิ้วเท้าขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ นิ้วมือซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อเท้า นิ้วเท้าซ้าย และบางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา กระดูกที่พบส่วนใหญ่ไม่สมบูรณ์ แตกหัก ได้แก่ ด้านใกล้กลาง (sternal end) ของกระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ปลายกระดูกต้นแขนซ้าย หัวและปลายกระดูกต้นขาซ้ายและขวา ขอบและลำตัวกระดูก ilium ซ้าย กระดูก ischium และ pubis ซ้ายและขวา ปีกและส่วนด้านหลังของกระดูกกระเบนเหน็บ และกระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวาซึ่งพบเฉพาะส่วนแกนกระดูกบริเวณ nutrient foramen เท่านั้น กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงที่พบมีสภาพชำรุดมาก แตกหัก ไม่สามารถซ่อมแซมตามสภาพเดิมได้
ร่องรอยผิดปกติบนกระดูก
1. กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา ตรงผิวบน (superior) ของ acromion end พบกระดูกงอกผิดปกติพบร่วมกับรูบนกระดูกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตรจำนวน 2 รู สันนิษฐานเบื้องต้นว่าลักษณะดังกล่าวน่าจะสัมพันธ์กับการอักเสบหรือแรงเครียดของกล้ามเนื้อ trapezius (muscle) ในการรั้งสะบักมาข้างหลัง ช่วยยกไหล่ขึ้นข้างบน หรือรั้งศีรษะไปข้างหลัง หรือกล้ามเนื้อ deltoid (muscle) ซึ่งมีหน้าที่ยกและกางแขนขึ้นเป็นมุมฉาก (สนั่น สุขวัจน์ 2515) นอกจากนี้ ส่วนด้านหน้าของกระดูกไหปลาร้าซ้ายพบรอยสับตัด เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการย่อยสลายและการทับถมหลังการเสียชีวิต
2. กระดูกต้นแขนซ้าย บริเวณหัวกระดูกมีรูพรุนผิดปกติ บางส่วนของเนื้อกระดูกร่นหายคล้ายแอ่งหรือหลุมขนาดเล็ก น่าจะเกิดจากอาการหัวไหล่หลุด? ส่งผลให้กระดูกต้นแขนไม่เข้าที่ตามปกติ และเกิดกระแทกกับส่วนเชื่อมต่อของ glenoid cavity (ซึ่งชำรุดหักหาย ไม่พบส่วนกระดูกดังกล่าวแต่อย่างใด) นอกจากนี้ ด้านหน้าของก้านกระดูกพบรอยแตกเป็นแนวดิ่งตามแกนกระดูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยรอบโครงกระดูก ส่งผลให้เนื้อกระดูกเกิดสภาวะการสูญเสียน้ำอย่างฉับพลันและเกิดเป็นรอยแตกขึ้น (Byers 2005)
3. กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในขวา พบร่องรอยการสมานแผลของกระดูกบริเวณปลายก้านกระดูกทั้งสองชิ้น ส่งผลให้ปลายกระดูกค่อนข้างใหญ่และมีรูปทรงคดโค้งผิดปกติ ขณะเดียวกันบริเวณสันกลางของกระดูกทั้งสองชิ้นบริเวณ interossues crest สันกั้นระหว่างด้านหน้าและด้านหลังของชุดกระดูกปลายแขนมีการงอกของกระดูกเป็นแนวยาวทั้งก้านกระดูก น่าจะเกิดขึ้นจากการอักเสบของกล้ามเนื้อยึดที่ยึดหรือดึงข้อต่อส่วนข้อมือ (White 1991) นอกจากนี้สันกระดูกด้านใกล้กลางของกระดูกปลายแขนด้านในขวา พบรอยสับตัดกระดูกและรอยแตกตามแนวดิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิต
4. กระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวา บริเวณ soleal line ใกล้กับ nutrient foramen พบลักษณะกระดูกงอกตามรอยเกาะกล้ามเนื้อ soleus (muscle) เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้งานอย่างหนักและสม่ำเสมอในระยะเวลานาน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวต้องใช้ทั้งการเหยียดและกดข้อเท้ากับนิ้วเท้าเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญ เพราะกล้ามเนื้อ soleus นั้นถูกใช้สำหรับการเหยียดข้อเท้า ขณะเดียวกัน ด้านไกลกลางของก้านกระดูกฝ่าเท้าซ้ายที่ 1 และ 5 (นิ้วโป้งและนิ้วก้อย) ก็พบลักษณะการงอกของกระดูกผิดปกติตามแนวรอยเกาะกล้ามเนื้อ peroneus longus และ peroneus brevis ซึ่งทำหน้าที่เหยียด กาง และหมุนเท้าอออกข้างนอก (สนั่น สุขวัจน์ 2515) เช่นเดียวกับที่พบรอยกดชัดเจนของกล้ามเนื้อ extensor digitorum longus ด้านล่างของหัวกระดูกข้อแรก (proximal phalange) ของนิ้วเท้าซ้ายชิ้นที่ 3-4 (นิ้วกลางและนิ้วก้อย) และนิ้วเท้าขวาชิ้นที่ 2, 4 และ 5 (นิ้วชี้ นิ้วนาง และนิ้วก้อย) ซึ่งใช้ในการงอ เหยียด และหันเท้าออกข้างนอกเช่นเดียวกัน
5. กระดูกซี่โครงด้านซ้ายชิ้นที่ 7-9? บริเวณส่วนหัวและคอกระดูกมีขนาดความหนาและมีผิวกระดูกขรุขระผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นจากการสมานเนื้อกระดูก