โครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาว ตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN1 กริด S5-7E16-17 ระดับชั้นดินสมมติ 120-150 (130-140) cm.dt.
สภาพโดยรวมไม่สมบูรณ์ พบเพียงส่วนโครงสร้างร่างกาย ไม่พบร่วมกับกะโหลกศีรษะซึ่งน่าจะฝังติดในผนังหลุมด้านทิศใต้ พบร่วมกับกลุ่มเศษภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นนวลจำนวนอย่างน้อย 2 ใบที่ถูกทำให้แตกแล้วนำมาโปรยทับและวางรองศพ กำหนดอายุราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ พบเฉพาะส่วนของร่างกายตั้งแต่คอลงมา สภาพชำรุด แตกหัก และหายเป็นส่วนใหญ่ สามารถใช้ศึกษาได้ราวร้อยละ 10-15 ในส่วนการศึกษาลักษณะที่วัดได้ การประเมินอายุเมื่อตาย และร่องรอยลักษณะผิดปกติที่พบ ส่วนกระดูกที่พบมีสภาพเบื้องต้น คือ กระดูกไหปลาร้าขวาชำรุด พบเฉพาะส่วนปลายกระดูกเชื่อมต่อกับกระดูกสะบัก กระดูกสะบักขวาชำรุด พบเฉพาะส่วนลำตัว กระดูกต้นแขนขวาชำรุด พบเพียงส่วนก้านกระดูก กระดูกต้นแขนซ้าย สภาพชำรุด ส่วนกลางก้านกระดูกแตกหักหาย กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย ชำรุด พบเฉพาะส่วนหัวถึงกลางก้านกระดูก กระดูกซี่โครงพบในบางส่วนทางด้านซ้ายและขวา สภาพชำรุดแตกหัก กระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 2 (axis) สภาพสมบูรณ์ ส่วนกระดูกสันหลังช่วงลำตัวและเอว พบเพียงอย่างละ 1 ชิ้น ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ สภาพชำรุดเช่นกัน กระดูกกระเบนเหน็บพบเฉพาะส่วนปลายกระดูกตั้งแต่ S4 ลงมา กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา สภาพชำรุด พบเฉพาะส่วน ischium และบางส่วนของเบ้ากระดูกต้นขา กระดูกต้นขาขวาสภาพสมบูรณ์ ส่วนกระดูกต้นขาด้านซ้ายชำรุด หัวกระดูกแตกหัก กระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวา สภาพเกือบสมบูรณ์ ยกเว้นปลายกระดูกแตกหัก กระดูกน่องขวา สภาพสมบูรณ์และกระดูกข้อเท้าขวา (talus) สภาพสมบูรณ์เช่นกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. ปลายก้านกระดูกต้นแขนซ้าย ด้านหน้า บริเวณแอ่ง coronoid (fossa) พบกระดูกงอก สัมพันธ์กับลักษณะผิดปกติที่พบจากหัวกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในขวา บริเวณ tuberosity ที่พบบางส่วนของกระดูกหายไป ทำให้ปุ่มกระดูกเดิมมีลักษณะเรียบเชื่อมต่อเข้ากับ radial notch คล้ายกับอาการเชื่อมต่อผิดปกติบริเวณข้อกระดูก (radio-ulnar synostosis) น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับทุติยภูมิของการสมานเนื้อกระดูก ภายหลังการบาดเจ็บบริเวณข้อศอก (Anton and Polidoro 2000)