โครงกระดูกฝังหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN1 กริด S1-2E12-13 ระดับชั้นดินสมมติ 120-170 (148-161) cm.dt.
โครงกระดูกพบในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ ส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่กระดูกปลายขาลงมาไม่พบแต่อย่างใด มีรูปแบบการฝังศพด้วยการนำภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นนวลมาทุบและวางโปรยทับบนตัวและบริเวณโดยรอบตัวศพอย่างน้อยจำนวน 10 ใบ กรมศิลปากร (2535) ได้พบหลักฐานเปลือกข้าวภายในภาชนะดินเผาพบร่วมกับศพซึ่งได้ถูกเก็บนำหลักฐานขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 ภายในส่วนปากของศพพบชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็กจำนวน 1 ชิ้น และบริเวณกลางลำตัวในระดับใต้โครงกระดูกพบเศษลูกปัดแก้วสีเขียว สภาพชำรุด เปื่อยยุ่ย กำหนดอายุหลุมฝังศพได้ราวสมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโดยรวมของโครงกระดูก พบค่อนข้างขำรุด แตกหักหายไปบางส่วน สามารถนำมาประเมินศึกษาได้ราวร้อยละ 45-50 โดยไม่พบในส่วนของกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องซ้ายและขวา กระดูกสะบ้าซ้าย กระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือทั้งสองข้าง รวมถึงบางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา ส่วนกระดูกที่พบนั้น บางส่วนมีลักษณะชำรุด แตกหัก ไม่สามารถนำมาศึกษาได้ทั้งหมด คือ กะโหลกศีรษะบนนั้นส่วนหน้าผากหักหายไป คงเหลือเพียงขากรรไกรบน กระดูกด้านข้างศีรษะและกระดูกท้ายทอย กระดูกสะบักซ้ายและขวาพบว่าส่วนลำตัวกระดูกแตกหักหาย รวมถึงหัวกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา ลำตัวของกระดูกลิ้นปี่ ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกซ้ายและขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านในซ้าย กลางถึงปลายของกระดูกต้นขาขวา บางส่วนของลำตัวกระดูกเชิงกรานและกระดูกหัวเหน่าซ้ายและขวา อีกทั้งบางส่วนของกระดูกซี่โครงที่พบก็มีลักษณะชำรุดเช่นเดียวกับกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะส่วนลำตัวถึงเอวมีลักษณะกระดุกผุ เปื่อยยุ่ยเช่นกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา บริเวณ costal impression และ subclavian sulcus พบแนวกระดูกงอกเป็นสันแหลม น่าจะเป็นผลจากแรงแค้นการกระทำของกล้ามเนื้อ subclavius (muscle) ทำหน้าที่สำหรับพยุงและช่วยการเคลื่อนไหวของส่วนหัวไหล่
2. กระดูกต้นแขนซ้าย บริเวณปุ่ม deltoid พบรอยเกาะกล้ามเนื้อ deltoid ค่อนข้างลึกและชัด ซึ่งกล้ามเนื้อดังกล่าวทำหน้าที่ในการยกและกางแขนขึ้นเป็นมุมฉาก (สนั่น สุขวัจน์ 2515)
3. กระดูกต้นขาซ้าย บริเวณ intertrochanteric line นูนค่อนข้างเด่นชัด ขณะที่บริเวณกลางก้านกระดูกด้านหน้าพบรอยสับตัด ที่เกิดขึ้นจากการรบกวนโครงกระดูกภายหลังการเสียชีวิต เช่นเดียวกับที่พบร่องรอยการเจาะ (เขี้ยวสัตว์) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร บริเวณ articular facet ขวาของกระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1 (atlas)
4. ส่วนกระดูกกระเบนเหน็บชิ้นที่ 1 (S1) และ กระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 5 (L5) พบลักษณะกระดูกงอก (osteoarthritis) เป็นปุ่มกระดูกเชื่อมต่อกันขนาดความกว้าง 2.1 เซนติเมตร ยาว 2.2 เซนติเมตร บริเวณขอบด้านหน้าขวาของลำตัวกระดูกสันหลัง