โครงกระดูกวางเรียงตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN1 กริด S1E14-15 ระดับชั้นดินสมมติ 130-150 (131-142) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพไม่สมบูรณ์ พบเฉพาะส่วนกะโหลกศีรษะบนและบางส่วนของร่างกายทางด้านซ้ายที่ยื่นออกมาจากผนังชั้นดินด้านทิศเหนือไม่สามารถประเมินเพศของโครงกระดูกได้ พบร่วมกับกลุ่มเศษภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นนวลวางทับส่วนกะโหลกศีรษะ กำหนดอายุราวสมัยปลายวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกที่พบชำรุดมาก พบไม่สมบูรณ์ทั้งโครง สามารถนำมาศึกษาได้ราวร้อยละ 15-20 เพราะส่วนใหญ่ยังคงถูกฝังอยู่ในผนังชั้นดินด้านทิศเหนือ อีกทั้งส่วนที่พบก็มีสภาพชำรุด (จากการขุดค้นและจัดแสดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะโหลกศีรษะบนชำรุดแตกออกเป็นแผ่น พบในส่วนกระดูกหน้าผาก กระดูกข้างขม่อมขวา กระดูกท้ายทอย และบางส่วนของขากรรไกรบน ส่วนกระดูกขากรรไกรล่างสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่รูปทรงผิดปกติ (ไม่สามารถใช้ในการจำแนกเพศได้แต่อย่างใด) กระดูกส่วนอื่นมีสภาพดังนี้ คือ กระดูกไหปลาร้าซ้าย พบเฉพาะก้านกระดูกด้านที่ต่อกับกระดูกสะบัก กระดูกสะบักซ้ายและขวาสภาพชำรุด ไม่พบในส่วนลำตัวกระดูก กระดูกต้นแขนซ้ายและขวา สภาพชำรุดพบเฉพาะก้านถึงปลายกระดูก กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้ายและขวาชำรุดเช่นกัน พบเฉพาะก้านกระดูกเท่านั้น กระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1-7 สภาพชำรุด ส่วน spine แตกหัก รวมถึงบางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา สภาพชำรุดเช่นเดียวกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกต้นแขนซ้าย ด้านหลังของก้านกระดูกส่วนกลางถึงปลาย พบรอยสับตัดลงบนกระดูก เป็นลักษณะที่เกิดหลังการเสียชีวิต ในกระบวนการทับถมและการย่อยสลายของโครงกระดูก
2. กระดูกต้นขาขวา บริเวณด้านหลังของแกนกระดูกพบรอยแตกในแนวดิ่ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหถูมิอย่างกระทันหันของส่วนกระดูก ส่งผลให้เกิดรอยแตกของกระดูกหลังการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังพบรอยเกาะกล้ามเนื้อ glueteus (muscle) เด่นชัดบริเวณ gluteal line ลักษณะเป็นแอ่งลึกมากกว่าปกติ เป็นผลจากแรงแค้นของการกระทำส่วนกล้ามเนื้อสำหรับการเคลื่อนไหวในการหมุนต้นขาร่วมกับกระดูกเชิงกราน