โครงกระดูกวางหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ PSN 1 กริด S3E14-15 ระดับชั้นดินสมมติ 150-200 (188-195) cm.dt.
สภาพกระดูกไม่สมบูรณ์ ชำรุด แตกหักโดยเฉพาะกะโหลกศีรษะ กระดูกไม่วางเรียงตามแนวสรีระ ด้านซ้ายของโครงกระดูกถูกรบกวนโดยการวางทับของภาชนะบรรจุศพทารก หลุมฝังศพหมายเลข 055 ที่พบในระดับชั้นดินเดียวกันกับหลุมฝังศพหมายเลข 026 ที่พบในระดับสูงกว่า ศพถูกมัดบริเวณปลายเท้า มีการฝังศพโดยการนำภาชนะดินเผาขัดมันสีแดงและภาชนะลายเขียนสีแดงบนพื้นนวลขนาดค่อนข้างใหญ่อย่างน้อย 10 ใบ มาทุบหรือวางทับลงบนตัวศพ พบร่วมกับเศษลูกปัดแก้วสีฟ้าอมเขียวจำนวน 4 ชิ้นช่วงกลางลำตัว บริเวณปลายเท้าพบการวางก้อนศิลาแลง และการโรยดินเทศสีแดงประกอบพิธีกรรมการฝังศพ กำหนดอายุราวสมัยปลายวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกชำรุด แตก หักหาย พบส่วนใหญ่ในส่วนซีกขวาของร่างกาย สามารถนำมาศึกษาราวร้อยละ 15-20 ทั้งนี้ไม่พบในส่วนกระดูกสันหลังช่วงลำคอ ลำตัว และเอว กระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกลิ้นปี่ บางส่วนของกระดูกซี่โครงขวา และกระดูกซี่โครงซ้ายทั้งหมด กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา กระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบักซ้าย กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย กับทั้งหมดของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือซ้าย บางส่วนของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าขวา และทั้งหมดของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้าย สภาพกระดูกที่พบ บางส่วนชำรุดแตกหัก ส่วนกะโหลกศีรษะพบเฉพาะด้านข้างซ้ายของกะโหลกศีรษะบน หน้าผาก และท้ายทอยที่แตกหัก กระดูกจมูก กระดูกขากรรไกรบน กับกระดูกขากรรไกรล่าง ส่วนกระดูกอื่นที่ชำรุดได้แก่ ก้านกระดูกไหปลาร้าด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบักขวา ลำตัวและ acromion ของกระดูกสะบักขวา หัวกระดูกต้นแขนขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในขวา หัวและปลายกระดูกต้นขาซ้ายและขวา หัวและปลายกระดูกหน้าแข้งกับกระดูกน่องซ้ายและขวา และบางส่วนของกระดูกซี่โครงขวา
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกปลายแขนด้านนอกและกระดูกปลายแขนด้านในขวา บริเวณสันขอบกระดูกด้านหน้า หรือ interosseus crest กระดูกปลายแขนด้านในและด้านนอกซ้าย มีการยื่นของกระดูก (และโค้ง) มากกว่าปกติโดยอาจเกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อกั้นกลางระหว่างกระดูก (interosseus membrane) อักเสบหรือถูกใช้งานอย่างหนักและสม่ำเสมอ