โครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN3 กริด S10E2-3 ระดับชั้นดินสมมติ 220-230 (221-238) cm.dt.
สภาพโครงกระดูกชำรุด ถูกรบกวนอย่างมากโดยเฉพาะส่วนบนของลำตัวตั้งแต่กะโหลกศีรษะบนลงมาถึงกระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขน (ด้านนอกและด้านใน) ทั้งสองข้างวางไขว้ทับลงบนกระดูกเชิงกราน คล้ายการมัดศพบริเวณข้อมือ พบร่วมกับภาชนะดินเผา 2 ใบ วางอยู่ทางด้านซ้ายของกระดูกปลายแขนซ้าย 1 ใบและทางด้านขวาของกระดูกต้นขาขวาอีกหนึ่งใบ ส่วนกระดูกหน้าแข้ง กระดูกน่อง กระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าทั้งสองข้างติดอยู่ในผนังชั้นดินด้านทิศเหนือ กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ พบเฉพาะส่วนกลางลำตัว สามารถใช้ศึกษาได้ร้อยละ 5 สำหรับการประเมินอายุเมื่อตายกับร่องรอยผิดปกติที่พบเท่านั้น พบกระดูกตามสภาพดังนี้ คือ ก้านกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา ชำรุด ส่วนหัวถึงกลางก้านกระดูกแตกหัก กระดูกปลายแขนด้านนอกกับด้านในซ้ายและขวา สภาพชำรุดพบเฉพาะส่วนก้านกระดูกเท่านั้น กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา กับกระดูกกระเบนเหน็บชำรุดมาก แตกหลุดออกเป็นแผ่น กระดูกต้นขาซ้ายและขวา สภาพชำรุด ส่วนหัวและปลายกระดูกแตกหักเช่นกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกต้นขาขวา บริเวณ linea aspera พบกระดูกยื่นผิดปกติเกิดจากแรงดึงหรือแรงแค้นการกระทำของกล้ามเนื้อ vastus (muscles) ช่วยสำหรับการเคลื่อนไหวหรือหมุนส่วนต้นขาเข้าสู่แกนกลาง น่าจะเกิดจากการประกอบกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อดังกล่าวอย่างหนักสม่ำเสมอก็เป็นได้