โครงกระดูกวางนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 3 กริด S10E1-2 ระดับชั้นดินสมมติ 200-250 (226-241) cm.dt.
โครงกระดูกพบค่อนข้างสมบูรณ์ ชำรุดมาก เปื่อยผุ และแตกหัก ศพวางในท่านอนหงายเหยียดยาวตามปกติ มือทั้งสองข้างวางอยู่บนส่วนกระดูกเชิงกราน พบร่วมกับภาชนะดินเผาอย่างน้อยจำนวน 4 ใบ คือ หนึ่งใบวางด้านบนและหนึ่งใบวางด้านข้างปลายกระดูกต้นขาขวา ภาชนะอีกใบวางรองใต้ศีรษะ ส่วนใบสุดท้ายวางไว้ระหว่างช่วงหัวเข่าทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้ยังพบอิฐจำนวน 1 ก้อนบริเวณกลางกระดูกต้นขาขวา น่าจะเป็นวัตถุปัจจุบันรบกวนจากการก่อสร้างแนวกำแพงหรือโครงสร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้น เพราะได้พบกลุ่มอิฐลักษณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง ในระดับสูงกว่าหลุมฝังศพประมาณ 10 เซนติเมตร กำหนดอายุราวสมัยต้นของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะชำรุด กระดูกเปื่อยยุ่ยและแตกหัก สามารถนำมาใช้ศึกษาได้ร้อยละ 35-40 ส่วนกะโหลกพบทั้งกะโหลกศีรษะบนสภาพชำรุด เปื่อยยุ่ย แตกออกจากกัน พบเฉพาะกระดูกหน้าผาก กระดูกข้างขม่อมซ้ายและขวา กระดูกท้ายทอย กระดูกกกหูทั้งสองข้าง กับกระดูกช่วงใบหน้าตั้งแต่ส่วนจมูกถึงขากรรไกรบน รวมถึงส่วนขากรรไกรล่างสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนกระดูกอื่นมีสภาพเบื้องต้นคือ กระดูกไหปลาร้าขวาสภาพสมบูรณ์ ส่วนข้างซ้ายชำรุดหักหายด้านที่ต่อกับกระดูกสะบัก กระดูกต้นแขนซ้ายและขวาพบเฉพาะส่วนแกนกลางและหัวกระดูก กระดูกปลายแขนด้านนอกขวาสภาพสมบูรณ์ ส่วนข้างซ้ายและกระดูกปลายแขนด้านในซ้ายและขวาสภาพชำรุดแตกหักตรงหัวและปลายกระดูก บางส่วนของกระดูกข้อมือ ผ่ามือ และนิ้วมือซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวาช่วงบนสภาพชำรุด กระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1-7 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 1-7 และชิ้นที่ 10-11 และกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 2-3 และ 5 ที่สภาพชำรุดโดยเฉพาะลักษณะการแตกหักบริเวณ spine กระดูกกระเบนเหน็บชำรุด กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวาพบเฉพาะลำตัว กระดูกต้นขาซ้ายและขวาสภาพชำรุด ส่วนหัวและปลายกระดูกหักหาย กระดูกสะบ้าซ้ายและขวา ก้านกระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวาสภาพชำรุดหักหายบริเวณก้านและหัวกระดูกเช่นกัน กับบางส่วนของก้านกระดูกน่องขวา สภาพชำรุดหักหาย
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกปลายแขนด้านนอกขวาด้านใกล้กลางส่วนที่เชื่อมต่อกับปลายก้านกระดูก ulnar notch มีลักษณะกระดูกบวมผิดปกติ แตกต่างจากด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด น่าจะเป็นลักษณะรอยสมานกระดูกภายหลังกระดูกได้รับการกระทบกระเทือนจากการบาดเจ็บ
2. กระดูกต้นขาซ้าย บริเวณแกนกระดูกด้านหลังใกล้กับส่วน third trochanter พบรอยสับตัด และรอยขุดลงบนกระดูก (scavenging?) เป็นลักษณะเกิดขึ้นในกระบวนการทับถมและการย่อยสลาย ภายหลังการเสียชีวิต