โครงกระดูกฝังนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 1 กริด S6E15-16 ระดับชั้นดินสมมติ 220-250 (243-248) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพไม่สมบูรณ์ ชำรุด ถูกรบกวนจากการขุดตัดช่วงลำตัวส่วนท้อง (ตั้งแต่ส่วนปลายกระดูกต้นแขนถึงกลางกระดูกปลายแขน) เพื่อใช้ในการฝังศพหมายเลข 068 ที่ใหม่กว่า โดยเป็นการวางขนานสวนทิศทางกัน กะโหลกศีรษะบนติดอยู่ในผนังชั้นดินด้านทิศตะวันออก ศพมีร่องรอยการถูกมัดข้อเท้า ตรงบริเวณปลายขาขวาทั้งกลางกระดูกหน้าแข้ง และกระดูกน่องพบร่องรอยบาดแผลกระดูกแตกหักที่สมานกระดูกจนแล้วเสร็จ ด้านปลายเท้าซ้ายโครงกระดูก พบทั้งภาชนะดินเผาทรงกลมก้นตัดจำนวน 1 ใบและก้อนศิลาแลงวางอุทิศให้กับศพ กำหนดอายุได้ราวสมัยต้นของวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกชำรุด แตก หักหาย และเปื่อยยุ่ย ใช้ประเมินศึกษาได้ราวร้อยละ 35-40 เพราะส่วนใหญ่แตกละเอียดและยากต่อการอนุรักษ์ซ่อมแซม ทั้งนี้ไม่พบส่วนของกะโหลกศีรษะบนที่ฝังอยู่ในแนวผนังหลุมขุดค้นด้านทิศตะวันออก กระดูกสันหลังช่วงลำตัวและช่วงเอว (ที่พบมีประมาณ 2-3 ชิ้นแต่มีสภาพชำรุดมาก) กระดูกลิ้นปี่ กระดูกสะบ้าซ้าย กระดูกต้นขาขวา บางส่วนของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วมือซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือซ้ายและขวา และส่วนใหญ่ของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา กระดูกที่พบส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดแตกหัก ไม่เต็มรูปกระดูก ได้แก่ ก้านกระดูกไหปลาร้าด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบักซ้าย ลำตัวของกระดูกสะบักซ้ายและขวา ส่วนกลางถึงปลายก้านกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา ส่วนหัวถึงกลางกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้ายและขวา ขอบกระดูก ilium กระดูกหัวเหน่าของกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา ส่วนปลายกระดูกก้นกบ ส่วนหัวถึงกลางกระดูกต้นขาซ้าย ส่วนหัวและส่วนปลายกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องซ้ายและขวา และบางส่วนที่พบของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกสะบักซ้ายและขวา บริเวณขอบด้านไกลกลางของกระดูก หรือ axillary border และ infraglenoid tubercle ผิวกระดูกค่อนข้างหนาและขรุขระ เป็นร่องรอยเกาะของกล้ามเนื้อ triceps brachi (muscles) ที่ใช้ในการเหยียดปลายแขนและข้อศอก (สนั่น สุขวัจน์ 2515) ค่อนข้างชัดเจน
2. กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา ผิวบนกระดูกด้านปลายเชื่อมกับ acromion ของกระดูกสะบัก หรือบริเวณ conoid tubercle พบร่องรอยเกาะกดของกล้ามเนื้อชัดเจน โดยน่าจะเกิดขึ้นจากแรงแค้นการกระทำส่วนเอ็นยึดกล้ามเนื้อ conoid (ligament) ส่วนด้านใต้ของกระดูกไหปลาร้าซ้ายของ subclavian sulcus มีลักษณะที่เป็นกระดูกงอกยื่นแหลมออกมาบริเวณแนวขอบด้านนอก ซึ่งน่าจะเกิดจากแรงแค้นการกระทำจากส่วนกล้ามเนื้อ subclavius (muscle) กล้ามเนื้อสั้นและหนาที่ลากผ่านจากส่วนกระดูกซี่โครงที่ 1 ช่วยในการควบคุมส่วนหัวไหล่ในการเคลื่อนไหวแนวดิ่งขึ้นและลง
3. บริเวณส่วนปลายก้านกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย หรือบริเวณส่วนข้อมือซ้าย พบลักษณะของการสมานเนื้อกระดูกอย่างชัดเจน โดยบางส่วนของกระดูกจะแบนลงและขยายกว้างขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบางประการบริเวณข้อมือซ้าย แล้วส่งให้ปลายกระดูกเกิดการแตกหักก่อนที่จะได้รับการรักษา? หรือการสมานเชื่อมต่อเนื้อกระดูกโดยธรรมชาติ
4. กระดูกหน้าแข้งขวา ด้านหลังก้านกระดูก บริเวณ soleal line พบรอยเกาะของกล้ามเนื้อ soleus (muscle) ค่อนข้างชัดเช่นเดียวกับที่พบในส่วนหลังก้านกระดูกหน้าแข้งซ้าย โดยกล้ามเนื้อดังกล่าวทำหน้าที่หรือช่วยในการเหยียดข้อเท้า (สนั่น สุขวัจน์ 2515) ขณะที่บริเวณด้านนอกของก้านกระดูก พบปุ่มกระดูกงอกขนาดเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตรงอกออกมาจากกระดูก ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะของการสมานเนื้อกระดูกในระดับที่กระดูกได้รับกระทบกระแทกแล้วเกิดการแตกเพียงเล็กน้อย
5. ชุดกระดูกปลายขาขวา ทั้งกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่อง บริเวณแกนกลางกระดูก พบลักษณะของรอยสมานเนื้อกระดูกชัดเจน เป็นก้อนกระดูกกลมหนากว้างประมาณ 48 มิลลิเมตรในส่วนกระดูกหน้าแข้ง และ 27 มิลลิเมตร ในส่วนของกระดูกน่อง โดยสาเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุและส่งผลให้กระดูกเกิดการแตกหัก (กลาง) ส่วนก้านบนและก้านล่างของกระดูกเคลื่อนออกจากกัน อีกทั้งยังได้รับการรักษา (การเข้าเฝือก) ไม่ได้รูปดีเพียงพอ สภาพภายหลังการสมานกระดูกเป็นรูปโค้งหักคล้ายรูปตัวแอล นอกจากนี้ส่วนด้านหน้าของแกนบนกระดูกน่องยังพบลักษณะการสร้างผิวกระดูกใหม่ทับแนวผิวกระดูกเดิม สาเหตุนั้นน่าจะสัมพันธ์กับรอยแตกหักดังกล่าว โดยเกิดขึ้นด้วยอาการติดเชื้อจากบาดแผลภายนอกและส่งผลให้กระดูกหรือเยื่อหุ้มกระดูกเกิดการอักเสบก็เป็นได้