โครงกระดูกผู้ใหญ่ วางนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ PSN2 กริด S12-13E11-12 ระดับชั้นดินสมมติ 200-250 (247-249) cm.dt.
สภาพทั่วไปของโครงกระดูกถูกรบกวนมาก กะโหลกศีรษะชำรุด แบนยุบลงไปจากน้ำหนักกดทับของศิลาแลงที่วางอยู่ในระดับบน พบร่วมกับชิ้นส่วนกระดองเต่าจำนวน 5 ชิ้นและลูกกระสุนดินเผาปะปนอยู่ร่วมกับโครงกระดูก รวมถึงภาชนะดินเผาจำนวน 2 ใบวางไว้บริเวณปลายเท้าซ้ายของโครงกระดูก และก้อนศิลาแลงที่วางอยู่ตรงปลายโครงกระดูกกับตรงปลายกระดูกต้นแขนขวา กำหนดอายุเบื้องต้นราวสมัยต้นของวัฒนธรรมบ้านเชียง
โครงกระดูกสภาพชำรุดมาก ส่วนใหญ่มีลักษณะเปื่อยยุ่ยและชำรุดแตกหัก สามารถใช้ประเมินศึกษาได้ร้อยละ 10-15 พบตามสภาพดังนี้ คือ กะโหลกศีรษะบนชำรุดร้าวและแตกหัก พบเฉพาะบางส่วนของกระดูกข้างขม่อมซ้ายและขวาและกระดูกขากรรไกรบนที่มีสภาพชำรุดแตกหักเป็น 2 ส่วน ส่วนกระดูกขากรรไกรล่าง สภาพชำรุดแตกหักเช่นกัน กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวาสภาพชำรุด ปลายกระดูกด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบักแตกหัก กระดูกสะบักซ้ายชำรุด พบเฉพาะส่วนลำตัว กระดูกต้นแขนซ้ายและขวาสภาพชำรุด หัวและปลายกระดูกแตกหัก ด้านกระดูกปลายแขนด้านนอกซ้ายและขวากับกระดูกปลายแขนด้านในซ้าย สภาพชำรุดเช่นกัน พบเฉพาะส่วนก้านกระดูกเท่านั้น บางส่วนของกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังมีลักษณะชำรุดมาก ไม่สามารถจำแนกได้เช่นเดียวกับกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวาที่ชำรุดแตกหัก กระดูกสะบ้าขวาสภาพเกือบสมบูรณ์ ส่วนกระดูกหน้าแข้งซ้ายกับกระดูกน่องซ้ายและขวา สภาพชำรุดพบเฉพาะส่วนก้านกระดูกเท่านั้น
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกโครงร่างในส่วนบนทั้งกระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา กระดูกสะบักซ้าย กระดูกต้นแขนซ้ายและขวา กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย กับกระดูกปลายแขนด้านนอกขวา บริเวณส่วนลำตัวกระดูก ถูกรบกวนอย่างมากในกระบวนการทับถมและย่อยสลายภายหลังการเสียชีวิต โดยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งความชื้น และการรบกวนของพืชและสัตว์ เพราะพบการเสื่อมสภาพอย่างมากทั้งการเปื่อยยุ่ยหลุดของส่วนกระดูก รอยสับตัด และรอยแตกตามแนวดิ่ง เป็นต้น