โครงกระดูกฝังตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก พื้นที่ PSN1 กริด S5E15-16 ระดับชั้นดินสมมติ 200-250 (247-249) cm.dt.
สภาพกระดูกถูกรบกวนมาก ไม่อยู่ในสภาพสรีระปกติ กระดูกขากรรไกรบนและล่าง พบแยกจากกัน กระดูกสันหลังบางส่วนวางอยู่ระหว่างกระดูกต้นขา พบร่วมกับกระดูกสัตว์ตระกูลวัว-ควายทั้งโครง ซึ่งวางต่อจากปลายเท้าซ้ายของโครงกระดูก ด้านบนของของกระดูกปลายขาถูกทับด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับภาชนะดินเผาอีก 2 ใบที่วางซ้อนทับกันใต้ก้อนแลง ส่วนภาชนะดินเผาอีกใบวางอยู่บนกระดูกต้นขาขวาในลักษณะหงายตั้งขึ้น
พบร่วมกับเครื่องมือกระดูกปลายแหลมทางด้านทิศตะวันตกของก้อนแลง กลุ่มลูกปัดเปลือกหอยกองรวมอยู่บริเวณปลายกระดูกต้นแขนซ้าย ภายหลังที่เก็บโครงกระดูกขึ้นได้พบก้อนดินเทศ และแท่นหินสีน้ำตาลส้ม รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งอาจมีรูปแบบการใช้งานเป็นเบ้าหลอม (?) หรือที่บด (?) เพราะมีรอยเว้าขนาดใหญ่ที่ด้านบนจำนวน 3 รอย มีขนาดความหนาประมาณ 2 – 5.5 เซนติเมตรกว้างประมาณ 15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 24 เซนติเมตร วางอยู่ใต้ตอนล่างของกระดูกต้นขาขวา กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโดยรวมค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถนำมาศึกษาได้ราวร้อยละ 60-70 ขาดเฉพาะกระดูกเชิงกรานซ้าย กระดูกสะบ้าขวา กระดูกสันหลังส่วนลำตัวชิ้นที่ 3-4, และ 7 กระดูกสันหลังส่วนสะโพกชิ้นที่ 2-3 กระดูกข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ และกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า นิ้วเท้าด้านซ้ายและขวาที่พบเพียงบางส่วน กับกระดูกซี่โครง ส่วนสภาพกระดูกที่พบคุณภาพค่อนข้างดี แต่ชำรุดแตกหักบางส่วน คือหัวกระดูกต้นแขนขวา ลำตัวของกระดูกลิ้นปี่ และลำตัวกระดูกสะบักทั้งสองข้าง