โครงกระดูกฝังนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 2 กริด S10-11E10-12 ระดับชั้นดินสมมติ 210-230 (219-226) cm.dt.
สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่กะโหลกศีระษะบนชำรุดมาก หักหายคงเหลือเพียงส่วนด้านข้างและท้ายทอย ศพน่าจะถูกมัดตรงข้อเท้า พบร่วมกับภาชนะดินเผาลายเชือกทาบจำนวน 2 ใบ วางอยู่บนกระดูกปลายขาทั้งสองข้าง กับเครื่องมือขวานหินขัดวางติดอยู่กับกระดูกนิ้วมือซ้ายของโครงกระดูก กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่สภาพชำรุด แตกหัก โดยเฉพาะกะโหลกศีรษะบน สามารถนำมาใช้ศึกษาได้ราวร้อยละ 55-60 ทั้งนี้ไม่พบในส่วนกระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 6-7 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 2 บางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ กระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า กับนิ้วเท้าซ้ายและขวา ส่วนใหญ่ของกระดูกที่พบชำรุดแตกหัก ได้แก่ กระดูกไหปลาร้าซ้ายหักหายในส่วนด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบัก กระดูกสะบักซ้ายและขวา ส่วนลำตัวหักหาย กระดูกลิ้นปี่ตรงส่วนลำตัว หัวกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้ายและขวา กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวาชำรุดบริเวณลำตัวและกระดูกหัวเหน่า ปลายกระดูกต้นขาซ้ายและขวา หัวกระดูกหน้าแข้งขวา หัวและปลายกระดูกน่องซ้ายและขวา และบางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวาที่พบมีลักษณะชำรุดเช่นเดียวกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกไหปลาร้าซ้าย พบกระดูกงอกขนาดความกว้าง 2.3 เซนติเมตร ยาว 2.7 เซนติเมตร บริเวณ costal impression (tuberosity) ใต้หัวกระดูกด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกลิ้นปี่ น่าจะเกิดได้ใน 2 กรณี คือ แรงดึงหรือแรงกระทำจากส่วนเอ็นยึดกล้ามเนื้อ costaclavicular (ligament) หรือลักษณะการสมานแผลของเนื้อกระดูกภายหลังการบาดเจ็บบริเวณใต้คอ (ลิ้นปี่และกระดูกไปหลาร้าส่วนกลางลำตัว)
2. กระดูกไหปลาร้าขวา บริเวณด้านบนของปลายด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกสะบัก พบลักษณะกระดูกงอกแหลมผิดปกติ เป็นลักษณะหนึ่งที่เกิดจากแรงกระทำจากส่วนกล้ามเนื้อ deltoideus (muscle) ทำหน้าที่ยกและกางแขนขึ้นเป็นมุมฉาก (สนั่น สุขวัจน์ 2515) สัมพันธ์กับลักษณะผิดปกติที่พบจากกระดูกต้นแขนซ้าย บริเวณ deltoid tuberosity ซึ่งพบรอยเกาะของกล้ามเนื้อชัดเจนเช่นกัน
3. กระดูกต้นขาซ้ายและขวา บริเวณ intertrochanteric line พบกระดูกงอกตามแนวส่วนเอ็นยึดกล้ามเนื้อ iliofemoral (ligament) ทำหน้าที่สำหรับการยืดหยุ่นของข้อต่อระหว่างหัวกระดูกต้นขาและกระดูกเชิงกราน
4. กระดูกกระเบนเหน็บ บริเวณสันด้านหลัง median crest ไม่พบการเชื่อมต่อของกระดูกปกติ เป็นลักษณะผิดปกติที่เรียกว่า spina bifida เกิดขึ้นได้จากปัจจัยทางกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม อาทิ สภาวะการขาดสารอาหารประเภท วิตามินบี 12 (กรดโฟลิค) ธาตุสังกะสี ธาตุเซลีเนียมในช่วงที่อยู่ในครรภ์ของมารดา (Barnes 1994, อ้างถึงใน Robert and Manchester 2007)
5. กระดูกข้อเท้า calcaneus ซ้าย ตรงส่วนใต้กระดูกใกล้กับปุ่ม peroneal tubercle พบลักษณะกระดูกงอกผิดปกติขนาดความกว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 0.5 เซนติเมตรอาจเกิดด้วยสาเหตุแรงแค้นหรือแรงกระทำจากกล้ามเนื้อ brevis (muscles) และเอ็นมัดกล้ามเนื้อ peroneus longus (tendon) ทำหน้าที่สำหรับการเกร็ง กด และพลิกฝ่าเท้า (White 1991)