โครงกระดูกฝังท่านอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 2 กริด S11E12-13 ระดับชั้นดินสมมติ 240-270 (247-264) cm.dt.
สภาพโครงกระดูกค่อนข้างชำรุด ถูกรบกวนมากไม่เรียงตามหลักสรีระกายภาพของมนุษย์ พบรอยโรคโลหิตจางบริเวณเบ้าตาขวา (Cribra orbitalia) และท้ายทอย (Cranial porotic hyperostosis) ศพถูกมัดบริเวณหัวเข่า พบร่วมกับภาชนะดินเผาจำนวน 2 ใบ เป็นภาชนะดินเผาทรงถัง ก้นตัดคล้ายแก้วเบียร์ตกแต่งด้วยลายกดประทับ 1 ใบ และภาชนะดินเผาทรงกลม 1 ใบบริเวณปลายเท้าของศพ ก้อนแลงขนาดใหญ่ 3 ก้อนวางเหลื่อมซ้อนทับกัน โดยอาจจะสัมพันธ์กับความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หรือความเชื่อเรื่องการตายในลักษณะผิดปกติ กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกค่อนข้างดี พบเกือบสมบูรณ์ สามารถศึกษาได้ราวร้อยละ 70-75 ไม่พบในส่วนกระดูกลิ้นปี่ กระดูกสันหลังช่วงลำคอชิ้นที่ 1-2 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 11-12 กับกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 1-3 และชิ้นที่ 5 กระดูกกระเบนเหน็บชิ้นที่ 2-5 กระดูก ischium และ pubic ของกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา กระดูกสะบ้าซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือ นิ้วมือ ข้อเท้า นิ้วเท้า กับกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา
กระดูกที่พบ บางส่วนมีลักษณะชำรุดแตกหัก ได้แก่ ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ปลายกระดูก (acromiom end) ไหปลาร้าซ้ายและขวา ปลายกระดูกต้นแขนซ้ายและขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในขวา หัวกระดูกต้นขาซ้ายและขวา ปลายกระดูกน่องซ้าย กับบางส่วนของกระดูกซี่โครง
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกซี่โครงขวาชิ้นที่ 6 หรือ 7 บริเวณส่วนริมสันล่างด้านนอก (anterior caudal lower edge) ผิวกระดูกค่อนข้างขรุขระเกิดขึ้นจากสภาวะการสมานของส่วนกระดูกภายหลังการบาดเจ็บอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. ก้านกระดูกฝ่าเท้าซ้ายชิ้นที่ 3 พบรอยแตกแนวยาวของก้านกระดูก เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของโครงกระดูก โดยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เช่น สภาวะการสูญเสียน้ำของกระดูกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดรอยร้าวตามแนวยาวของกระดูก (Byers 2005)
3. ด้านบนของผนังเบ้าตาซ้ายและขวาหนาและพรุนผิดปกติ (Cribra orbitalia) และรูพรุนบนผิวกะโหลกศีรษะด้านนอก ทั้งกระดูกข้างขม่อมซ้ายและขวา (parietal) กับส่วนท้ายทอย (Cranial porotic hyperostosis) แสดงถึงภาวะโลหิตจางของโครงกระดูก