โครงกระดูกฝังท่านอนหงายเหยียดยาวในแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 1 กริด S8E13-14 ระดับชั้นดินสมมติ 260-270 (263-268) cm.dt.
โครงกระดูกพบเฉพาะส่วนบนของร่างกายตั้งแต่กะโหลกศีรษะถึงกระดูกเชิงกราน ส่วนกระดูกต้นขาลงมาพบในผนังชั้นดินด้านทิศตะวันออก ศพถูกมัดบริเวณข้อมือวางพาดไว้ตรงกระดูกเชิงกราน ไม่พบร่วมกับวัตถุอุทิศอย่างใด กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกค่อนข้างดี พบเกือบสมบูรณ์ สามารถนำมาประเมินศึกษาได้ราวร้อยละ 75-80 ไม่พบในส่วนกระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1 (atlas) กระดูกข้อมือและนิ้วมือขวา บางส่วนของกระดูกข้อมือและนิ้วมือซ้าย บางส่วนของกระดูกข้อเท้าและนิ้วเท้าซ้ายและขวา และบางส่วนของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา
กระดูกที่พบสภาพค่อนข้างดี แข็งแรง ยกเว้นในส่วนใบหน้า (facial) ของกะโหลกศีรษะที่ชำรุดหักหาย ส่วนลำตัวของกระดูกสะบักซ้าย และกระดูกซี่โครงที่พบก็มีสภาพชำรุดหักหายไปบางส่วนเช่นเดียวกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา ด้านล่างของ costal impressionและด้านหน้าของ sternal end พบกระดูกงอก กับรูปทรงของกระดูกเป็นรูปเหลี่ยมค่อนข้างผิดปกติ อาจเป็นด้วยการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือแรงแค้นจากการกระทำจากส่วนมัดกล้ามเนื้อหน้าอก (Pectoralis Major muscle? ทำหน้าที่หุบ งอ และหมุนต้นแขนเข้าข้างในและรั้งมาข้างหน้า (สนั่น สุขวัจน์ 2515))
2. กระดูกลิ้นปี่ ส่วนผิวด้านหน้าและผิวด้านหลังของ manubrium และ body พบผิวกระดูกขรุขระผิดปกติคล้ายกับถูกหนอนหรือพยาธิไช ทำให้กระดูกผิวไม่เรียบ มีร่องรอยเป็นแอ่ง มีรูปร่างไม่แน่นอนกระจายทั่วผิวกระดูก อาจเกิดได้ใน 2 สาเหตุ คือ (1) การติดเชื้อที่ส่งผลต่อส่วนกระดูก (พยาธิกระดูก?) หรือ (2) ลักษณะที่เกิดขึ้นจากการทำลายหรือการรบกวนของแมลงขนาดเล็กหลังการเสียชีวิต
3. กระดูกสะบักซ้ายและขวา ส่วนสันกระดูกด้านหลังของ scapula spine ผิวกระดูกขรุขระผิดปกติคล้ายกับการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูก?
4. กระดูกต้นแขนซ้ายและขวา บริเวณปุ่ม deltoid (tuberosity) พบกระดูกงอกใหม่สร้างทับแนวกระดูกเดิม น่าจะเกิดจากการอักเสบของเยื้อหุ้มกระดูก ตรงบริเวณปลายบนของกระดูก ส่วน interbercular หรือ bicipital groove พบลัการงอกของกระดูกทับแนวผิวกระดูกเดิม ซึ่งอาจเป็นไปได้ใน 2 กรณีคือ (1) การอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูก และ (2) การอักเสบหรือแรงแค้นจากการกระทำของส่วนเส้นเอ็น (tendon) ของกล้ามเนื้อ biceps brachii ช่วยยึดกล้ามเนื้อให้ติดส่วนกระดูกดังกล่าว (White 1991) ทำหน้าที่ในการงอพับข้อศอกและหงายฝ่ามือ (สนั่น สุขวัจน์ 2515)
5. กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้ายและขวา ตรงบริเวณสันกลางของก้านกระดูกทั้งสองชิ้น หรือ interosseous crest ที่เป็นสันกั้นระหว่างด้านหน้าและด้านหลังของกระดูกปลายแขนมีการงอกของกระดูกเป็นแนวยาวทับผิวกระดูกเดิม น่าจะเป็นลักษณะเกิดจากการอักเสบของกระดูก หรือส่วนของกล้ามเนื้อที่ยึดหรือดึงข้อต่อส่วนข้อมือ (White 1991)
6. กระดูกต้นขาซ้ายและขวา บริเวณ linea aspera จุดเริ่มต้นของส่วนกล้ามเนื้อ vastus (muscle) ที่ใช้สำหรับการงอต้นขาและเหยียดปลายขา มีการงอกของกระดูกที่เกิดจากการอักเสบหรือแรงแค้นการกระทำของกล้ามเนื้อ สอดคล้องกับผิวกระดูกงอกบนก้านกระดูกหน้าแข้งซ้ายและขวาตรง tibial tuberosity ที่เป็นจุดสิ้นสุดของกล้ามเนื้อดังกล่าว (สนั่น สุขวัจน์ 2515)
7. ผิวด้านหน้าและด้านบนของกระดูกสะบ้าทั้งสองข้างพบการงอกหรือการสร้างกระดูกใหม่ทับบนผิวกระดูกเดิม รวมถึงลักษณะการพรุนของผิวกระดูก อาจจะเกิดจากบาดแผลหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า แล้วติดเชื้อแพร่เข้ามาถึงส่วนกระดูกส่งผลให้เยื่อหุ้มกระดูกเกิดการอักเสบก็เป็นได้
8. กระดูกหน้าแข้งทั้งสองข้างนอกจากลักษณะกระดูกงอกบริเวณ tibial tuberosity แล้ว ด้านหลังของกระดูกส่วน soleal (popliteal) line ทั้งสองข้างยังพบการงอกของกระดูกที่เกิดจากแรงแค้นการกระทำหรือการอักเสบของส่วนกล้ามเนื้อ soleus ทำหน้าที่ในการเหยียดข้อเท้าอีกด้วย (สนั่น สุขวัจน์ 2515) นอกจากนี้ ตรงบริเวณ fibular notch ส่วนเชื่อมต่อบริเวณปลายบนของข้อเท้า (talocrural) (White 1991) พบการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูกที่มีการงอกหรือการสร้างกระดูกใหม่ทับผิวกระดูกเดิม
9. กระดูกน่องซ้ายและขวา ตรงบริเวณ peroneal groove ส่วนยึดเอ็นของกล้ามเนื้อ peroneus longus และ peroneus bravis (White 1991) ใช้สำหรับการเหยียด กาง และหมุนเท้าออกด้านนอก (สนั่น สุขวัจน์ 2515) และบริเวณส่วน proximal head พบผิวกระดูกค่อนข้างขรุขระ เป็นการสร้างผิวกระดูกพรุนทับแนวผิวกระดูกเดิมซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของเยื่อหุ้มกระดูกอักเสบหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อกระดูก สอดรับกับการอักเสบของเยื่อหุ้มกระดูกที่พบทั้งบริเวณข้อหัวเข่า (กระดูกสะบ้าและหัวกระดูกน่อง) และบริเวณข้อเท้า (ปลายกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่อง)
10. กระดูกฝ่าเท้าขวาชิ้นที่ 2 (นิ้วชี้) บริเวณด้านไกลกลางของก้านกระดูก พบรอยเกาะกล้ามเนื้อเป็นแอ่งลึกชัดเจนบนกระดูก เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นด้วยแรงแค้นจากการกระทำกิจกรรมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดรอยกดของกล้ามเนื้อหลังเท้าใช้สำหรับยึดให้กระดูกฝ่าเท้าถูกยกทำมุมโค้งกับส่วนฝ่าเท้า