โครงกระดูกฝังตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ PSN 2 กริด S11-12E14-15 ระดับชั้นดินสมมติ 260-280 (262-276) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ยกเว้นบางส่วนของกระดูกถูกรบกวนจากหลุมฝังศพหมายเลข 092 ทางด้านซ้ายของโครงกระดูก ไม่พบร่วมกับวัตถุอุทิศ กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโดยรวมค่อนข้างสมบูรณ์
สามารถนำมาศึกษาได้ร้อยละ 65-70
ไม่พบส่วนกระดูกลิ้นปี่ บางส่วนของกระดูกซี่โครง
กระดูกสันหลังช่วงลำคอชิ้นที่ 1, 3 และ 5 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 3-4 และ 11 กับบางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ และกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า
และนิ้วเท้าทั้งสองข้าง สภาพกระดูกคุณภาพค่อนข้างดี พบการชำรุดแตกหักบางส่วน คือ
กระดูกไหปลาร้าซ้ายแตกหักในด้านที่เชื่อมต่อเข้ากับกระดูกลิ้นปี่
ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย
หัวกระดูกต้นขาซ้ายและขวา ปลายกระดูกต้นขาขวา แกนบนกระดูกน่องขวา
แนวขอบกับบางส่วนของกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา และช่วงข้อกลางของกระดูกกระเบนเหน็บ
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. บริเวณ cunoid tubercle กระดูกไหปลาร้าขวา มีการเชื่อมต่อของกระดูกภายหลังจากการบาดเจ็บส่วนก้านกระดูกด้านหน้าของไหปลาร้าขวา ด้านที่ต่อกับ sternal end มีลักษณะหน้าตัดกระดูกค่อนเป็นรูปสามเหลี่ยม น่าจะเกิดจากแรงดึงหรือแรงแค้นจากการกระทำของกล้ามเนื้อ pectoralis major หรือกล้ามเนื้อรูปคล้ายพัดบริเวณช่วงหน้าอก ช่วยสำหรับหุบ งอ และหมุนต้นแขนเข้าข้างใน รั้งมาข้างหน้า และกดไหล่ให้อยู่กับที่ (สนั่น สุขวัจน์ 2515)
2. กระดูกสะบักซ้ายและขวา บริเวณ infraglenoid tubercle ผิวค่อนข้างหนา ขรุขระ และเป็นแอ่งรอยกดกระดูกเกิดจากการอักเสบหรือแรงแค้นจากการกระทำของกล้ามเนื้อ triceps brachi (muscles) ที่ใช้ในการเหยียดปลายแขนและข้อศอก (สนั่น สุขวัจน์ 2515)
3. กระดูกปลายแขนด้านในและด้านนอก บริเวณสันแบ่งระหว่าง (ด้านหน้าและด้านหลัง) ก้านกระดูกหรือ interosseus crest มีลักษณะยื่น (และโค้ง) มากกว่าปกติ อาจเกิดจากส่วนเนื้อเยื่อกั้นกลางระหว่างกระดูก (interosseus membrane) อักเสบ หรือถูกใช้งานส่วนข้อมืออย่างหนักและสม่ำเสมอ ส่งผลให้กระดูกบริเวณดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาโดยมีขนาดหนาและโค้งกว่าโดยทั่วไป
4. ส่วน medial articular facet ของกระดูกสะบ้าทั้งสองข้าง พบการงอกของกระดูกขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกันทั้งการอักเสบของกล้ามเนื้อ การงอกที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของด้านในข้อต่อหัวเข่า หรือลักษณะผิดปกติของเนื้องอกที่ประกอบด้วยเนื้อกระดูก (osteoma) อันเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ อย่างใดอย่างหนึ่ง
5. กระดูกน่องซ้าย บริเวณด้านหลังด้านที่เชื่อมต่อกับหัวกระดูก มีลักษณะกระดูกงอก ผิวขรุขระ และโค้งเล็กน้อยผิดปกติ โดยสาเหตุอาจเป็นไปได้ใน 2 ประการสำคัญคือ (1) การสมานตามรอยแตกหักของกระดูก หรือ (2) การอักเสบหรือแรงแค้นจากการกระทำของกล้ามเนื้อsoleus ที่มีต้นกำเนิดอยู่บริเวณส่วนหลังของหัวกระดูกน่องใช้สำหรับการเหยียดข้อเท้าร่วมกับกระดูกหน้าแข้งและด้านหลังของกระดูกข้อเท้า calcaneus
6. กระดูกฝ่ามือซ้ายชิ้นที่ 1 (นิ้วโป้ง) และกระดูกฝ่าเท้าซ้ายชิ้นที่ 1 (นิ้วโป้ง) ผิวกระดูกค่อนข้างขรุขระ มีการงอกหรือการสร้างผิวกระดูกทับแนวกระดูกเดิม เกิดจากสาเหตุของโรคติดเชื้อจากบาดแผลภายนอกและส่งผลให้เยื่อหุ้มกระดูกเกิดการอักเสบ
7. กระดูกฝ่ามือขวาชิ้นที่ 5 (นิ้วก้อย) บริเวณหัวกระดูก พบรอยการสมานกระดูกส่งผลให้ส่วนหัวกระดูกด้านที่เชื่อมต่อกับกระดูกข้อมือมีรูปทรงคดงอและมีขนาดของก้านกระดูกผิดปกติ
8. กระดูกนิ้วเท้าขวาชิ้นที่1 ข้อสุดท้าย (distal phalange) หรือบริเวณใต้ปลายนิ้วโป้งขวา พบลักษณะเนื้อกระดูกหายไปเป็นแอ่งรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร คล้ายกับลักษณะกระดูกอักเสบจากเชื้อหนอง หรือการอักเสบของกระดูกพรุน (osteomyelitis) สาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (หนอง) จากแผลภายนอกที่ส่งผลโดยตรงต่อกระดูกก็เป็นได้ (Roberts and Manchester 2007)