โครงกระดูกฝังนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตก-ตะวันออก พื้นที่ PSN 1 กริด S5-6E13-14 ระดับชั้นดินสมมติ 310-330 (306-318) cm.dt.
สภาพค่อนข้างชำรุด ส่วนขวาของโครงกระดูกถูกรบกวนจากการขุดตัดเพื่อวางหลุมฝังศพหมายเลข 100 มีร่องรอยการมัดศพบริเวณหัวเข่าและข้อเท้า พบร่วมกับภาชนะดินเผาจำนวน 1 ใบ วางติดปลายขาซ้ายของโครงกระดูก กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพกระดูกค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถประเมินศึกษาได้ราวร้อยละ 65-70 ไม่พบบางส่วนของกะโหลกศีรษะบน กระดูกสันหลังช่วงลำคอชิ้นที่ 1-7 กระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 2 กระดูกสะบ้าซ้าย บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือซ้ายและขวา บางส่วนของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้ายและขวา กับบางส่วนของกระดูกสันหลังซ้ายและขวา สำหรับกระดูกที่พบมีสภาพค่อนข้างดี แต่มีบางส่วนชำรุดหักหาย ได้แก่ ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ปลายกระดูกปลายแขนด้านนอกซ้าย ปลายลำตัวของกระดูกลิ้นปี่ ปลายกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องซ้าย กระดูกหัวเหน่าของกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา ส่วนกระดูกซี่โครงซ้ายและขวาที่พบมีสภาพชำรุดแตกหักบางส่วนเช่นกัน
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกไหปลาร้าซ้าย บริเวณ sternal end พบลักษณะกระดูกงอกที่มีสาเหตุจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ ส่งผลให้ระบบการทำงานปกติถูกทำลายและเกิดเป็นปฏิกิริยาในกระบวนการหล่อเลี้ยง เกิดเป็นการงอกของกระดูก
2. กระดูกปลายแขนด้านในและด้านนอกซ้าย บริเวณสันแบ่งระหว่าง (ด้านหน้าและด้านหลัง) ก้านกระดูกหรือ interosseus crest มีลักษณะการยื่น (และโค้ง) และผิวกระดูกขรุขระมากกว่าปกติโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับด้านขวา อาจเกิดได้จากส่วนเนื้อเยื่อกั้นกลางระหว่างกระดูก (interosseus membrane) อักเสบหรือถูกใช้งานอย่างหนักและสม่ำเสมอ ส่งผลให้กระดูกมีขนาดหนา โค้ง และขรุขระกว่าลักษณะโดยปกติ (ข้างขวา)
3. กระดูกเชิงกรานขวาตรงผิวด้านนอกของส่วนก้านกระดูกที่เชื่อมต่อระหว่าง ilium กับ pubic หรือ iliopubic (iliopectineal) eminence พบกระดูกงอกเป็นปุ่มขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร น่าจะเกิดขึ้นด้วยแรงแค้นจากการกระทำของกล้ามเนื้อ psoas major (กล้ามเนื้อ) ที่เริ่มต้นจาก transverse process ของกระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 12 ถึงบริเวณ lesser trochanter ของกระดูกต้นขา ทำหน้าที่สำหรับการงอ หุบ และหมุนต้นขาเข้าด้านใน (สนั่น สุขวัจน์ 2515)