โครงกระดูกเด็ก วางนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตก-ตะวันออก พื้นที่ PSN 2 กริด S11E14 ระดับชั้นดินสมมติ 270-290 (275-286) cm.dt.
โครงกระดูกชำรุด ไม่สมบูรณ์ โครงกระดูกด้านบนถูกรบกวนค่อนข้างมาก กะโหลกศีรษะชำรุด ยุบ แตกหัก ส่วนกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลังพบบางส่วนตามการวางตัวตามแนวสรีระ ส่วนกระดูกปลายขาลงไปติดอยู่กับผนังด้านตะวันออกของหลุมขุดค้น ไม่พบร่วมกับโบราณวัตถุอุทิศ กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพโครงกระดูกชำรุด
ไม่สมบูรณ์ สามารถนำมาศึกษาได้ร้อยละ 40-45 ทั้งนี้พบเฉพาะส่วนกระดูก
ดังนี้คือ กะโหลกศีรษะบนตรงบริเวณหน้าผากซ้าย กระดูกข้างขม่อมขวา กระดูกท้ายทอย
ขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง สภาพชำรุด แตกหัก ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา
ก้านกระดูกต้นขาขวา ก้านกระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้าย
บางส่วนของกระดูกสันหลังช่วงลำตัว กระดูกกระเบนเหน็บ กระดูกเชิงกราน: ilium
ซ้ายและขวา และกระดูก pubis ซ้ายและขวา
กับกระดูกต้นขาซ้ายและขวา
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. ก้านกระดูกปลายแขนด้านในซ้าย บริเวณหัวกระดูก หรือ radial notch พบการทำลายกระดูกลึกหายเข้าไปในจำนวน 2 แอ่ง ด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อและกระดูกเกิดการอักเสบบริเวณส่วนปลายข้อศอก ทำให้หลอดเลือดที่เป็นสารอาหารเลี้ยงกระดูกถูกทำลาย และเซลล์กระดูก ขาดการหล่อเลี้ยง และในกระบวนการดังกล่าว มีการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้าง กระดูกจะบางลงและมีบางส่วนหายไปที่เรียกว่า “osteolytic” (วิชัย วนดุรงค์วรรณ มปป.; อ้างแล้วในทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 2545)