โครงกระดูกถูกฝังนอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตก-ตะวันออก พื้นที่ PSN1 กริด S5-E14 ระดับชั้นดินสมมติ 300-320 (307-314) cm.dt.
โครงกระดูกสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ถูกรบกวนมากโดยเฉพาะร่างกายตอนบนทั้งส่วนกระดูกโครงสร้างแกนลำตัวและกระดูกโครงร่างสาขา ไม่พบร่วมกับวัตถุอุทิศแต่อย่างใด กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คุณภาพค่อนข้างดี สามารถนำมาศึกษาได้ร้อยละ 60-65 กระดูกมีคราบหินปูนเกาะติดอยู่ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตด้วยปัจจัยธรรมชาติอย่างน้ำและคุณภาพของดินซึ่งผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหินปูนบางส่วน ทำให้กระดูกค่อนข้างแข็งแรง ทั้งนี้ไม่พบในส่วนกระดูกขากรรไกรล่าง กระดูกสันหลังช่วงลำคอ กับกระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 1-4 และ 8-9 กระดูกไหปลาร้าซ้ายและขวา กระดูกลิ้นปี่ กระดูกสะบ้าขวา และบางส่วนของกระดูกข้อมือ นิ้วมือ กระดูกข้อเท้า นิ้วเท้าทั้งสองข้าง รวมถึงส่วนใหญ่ของกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา
ส่วนกระดูกที่พบบางส่วนชำรุดหักหาย ได้แก่ ก้านและหัวกระดูกปลายแขนด้านนอกซ้าย ลำตัวกระดูกสะบักซ้ายและขวา ส่วน pubic symphysis ของกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวาปีก alae ขวาของกระดูกกระเบนเหน็บ กับกระดูกซี่โครงทางซ้ายและขวา ชำรุดแตกหักเกือบทั้งหมด
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกต้นแขนซ้าย บริเวณ deltoid tuberosity พบปุ่มกระดูกงอกผิดปกติ อาจจเป็นเนื้องอกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เกิดจากกล้ามเนื้อในบริเวณนั้น (deltoid, deltoideus muscles) เกิดการอักเสบขึ้น
2. รูปทรงก้านกระดูกต้นขาซ้ายโค้งผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับด้านขวา เพราะหัวกระดูกเอียงออกมากผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุแต่อย่างใด
3. ส่วนปลายก้านกระดูกน่องขวา ด้านที่เชื่อมต่อกับปลายกระดูก หรือ malleolar พบรอยสับตัดกระดูกป็นรอยขวาง เป็นลักษณะผิดปกติเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิต
4. กระดูกข้อเท้าซ้าย (calcaneus) บริเวณ peroneal tubercle ด้านข้างของกระดูก (lateral view) พบกระดูกงอกผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อ (peronae longus หรือ brevis muscles) เกิดการอักเสบและเกิดสภาวะกระดูกงอกขึ้น