โครงกระดูกวางหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ PSN 1 กริด S9E11-12 ระดับชั้นดินสมมติ 190-220 (208-217) cm.dt.
โครงกระดูกถูกพบจากการขุดขยายแนวผนังหลุมด้านทิศเหนือ สภาพชำรุด กระดูกช่วงแขนด้านขวาติดอยู่ในผนังหลุมด้านทิศเหนือ โครงกระดูกฝังท่านอนหงายเหยียดยาว มีร่องรอยการมัดบริเวณหัวเข่าและปลายขา (ข้อเท้า) บริเวณกะโหลกศีรษะถูกทับด้วยศิลาแลง พบร่วมกับภาชนะดินเผาจำนวน 2 ใบ วางอยู่บริเวณหัวเข่าถึงปลายขา กับภาชนะดินเผาอีก 1 ใบ? ที่ถูกทุบและวางอยู่บริเวณปลายขา พื้นที่ด้านซ้ายของปลายขาซ้ายพบหลุมฝังศพหมายเลข 107 โครงกระดูกเด็กในระดับชั้นดินเดียวกัน กำหนดอายุราวสมัยต้นวัฒนธรรมบ้านเชียง
สภาพของกระดูกพบค่อนข้างชำรุด สามารถศึกษาได้ราวร้อยละ 25-30 โดยพบส่วนกระดูกตามสภาพคือ กะโหลกศีรษะบนสภาพชำรุดจากการกดทับของศิลาแลง พบเฉพาะบางส่วนของกระดูกหน้าผาก กระดูกข้างขม่อมซ้ายและขวา กับกระดูกท้ายทอยเท่านั้น ส่วนใบหน้าชำรุดไม่พบแต่อย่างใด กระดูกสะบักซ้าย ชำรุด พบเฉพาะลำตัวกระดูก กระดูกต้นแขนซ้ายชำรุดพบเฉพาะกลางก้านกระดูก กระดูกปลายแขนด้านนอกและด้านในซ้ายสมบูรณ์ บางส่วนของกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงซ้ายและขวา พบเฉพาะบางส่วนแต่สภาพชำรุดมาก กระดูกแตกหักออกจากกัน กระดูกเชิงกรานซ้ายและขวา สภาพชำรุด พบเฉพาะ ischium และ pubis กระดูกกระเบนเหน็บชำรุด พบเฉพาะ S1-S2 เท่านั้น
กระดูกต้นขาซ้ายชำรุด ปลายกระดูกแตกหัก แต่กระดูกต้นขาขวา สภาพสมบูรณ์ กระดูกสะบ้าซ้ายและขวา สภาพสมบูรณ์ทั้งสองข้าง กระดูกหน้าแข้งซ้าย ชำรุด หัวและปลายกระดูกแตกหัก กระดูกหน้าแข้งขวาพบสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กระดูกน่องซ้ายและขวาชำรุด พบเฉพาะแกนก้านกระดูก หัวและปลายกระดูกแตกหัก กับบางส่วนของกระดูกข้อเท้า ฝ่าเท้า และนิ้วเท้าซ้ายและขวา สภาพค่อนข้างสมบูรณ์
ร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก
1. กระดูกต้นขาซ้ายและขวา ด้านหลังกระดูก พบรอยแตกของกระดูกตามแนวดิ่ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภมิของกระดูกอย่างฉับพลัน ในช่วงหลังการเสียชีวิต
2. ด้านหลังกระดูกต้นขาขวา บริเวณ intertrochanteric crest พบรูเจาะกระดูก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นร่องรอยจากการกระทำของสัตว์หรือมนุษย์? ที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกภายหลังการเสียชีวิต
3. กระดูกนิ้วมือซ้าย (นิ้วโป้ง) ข้อด้านใกล้ (proximal) และข้อไกล (distal) เชื่อมต่อกัน หรือเกิดอาการนิ้วล็อก เกิดจากการสมานแผลของกระดูก หลังการบาดเจ็บหรือการอักเสบตรงส่วนข้อต่อนิ้ว เพราะเมื่อมองทางด้านข้าง กระดูกข้อด้านใกล้และข้อด้านไกลหักลงเป็นสามเหลี่ยมมุมป้าน ไม่สามารถเคลื่อนไหวใช้งานได้อย่างปกติ