ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่ม-บ้านแดงใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พิกัดภูมิศาสตร์ UTM – WGS 84: 48 257905E, 1830316N (ละติจูด 16° 32’ 33.1” เหนือ ลองจิจูด 102° 43’ 53.5” ตะวันออก)
ประวัติการขุดค้น
แหล่งโบราณคดีบ้านหนองทุ่ม-บ้านแดงใหญ่ ลักษณะเป็นเนินดินขนาด 130 x 120 เมตร มีระดับความสูงประมาณ 3 เมตรจากพื้นที่นาโดยรอบ ขุดค้นระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 11 กันยายน พ.ศ. 2537 ภายใต้การควบคุมของนายทรรศนะ โดยอาษา นักโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี โดยทำการขุดค้นหลุมขนาด 5 x 8.5 เมตร จำนวน 1 หลุม บริเวณกลางเนินดินในเขตพื้นที่ของนายจำปี วิชิตสูงเนิน บ้านเลขที่ 108/4 บ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก
การขุดค้นได้พบโครงกระดูกรวม 4 ตัวอย่าง กรณีตัวอย่างชำรุดจำนวน 2 โครงทำการวิเคราะห์เบื้องต้นที่หลุมขุดค้น ส่วนที่เหลืออีก 2 โครง นำมาวิเคราะห์ที่ห้องปฎิบัติการมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การควบคุมของประพิศ พงษ์มาศ (ชูศิริ) นักโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี ได้ผลการประเมินเพศ ค่าอายุเมื่อตาย และการประเมินความสูงตามสมการไทยจีน (สรรใจ แสงวิเชียรและคณะ 2528) และสมการอเมริกันผิวขาว (Trotter 1970) คือ
โครงกระดูก | เพศ | อายุเมื่อตาย (ปี) | สมการไทยจีน | สมการอเมริกันผิวขาว |
1 | ชาย | 37 (33-34) | 165.71 (162.16-169.03) ซม. | 170.37 (169.32-172.81) ซม. |
2 | ชาย | 32 (25-35) | 165.74 (162.56-170.79) ซม. | 172.35 (167.5-177.65) ซม. |
3 | จำแนกไม่ได้ | 30+ (25-35) | ||
4 | 6-7 (5-10) |
ที่มา: ประพิศ พงษ์มาศ (ชูศิริ), การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่ม – บ้านแดงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น. (กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี, 2537), 5-8.
ร่องรอยของโรคในสมัยโบราณ
ร่องรอยของโรคสมัยโบราณ ศึกษาได้จากโครงกระดูก 2 ตัวอย่างเท่านั้นวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เบื้องต้นพบว่า (1) โครงกระดูกหมายเลข 1 พบร่องรอยการอักเสบของฟันและโรคฟันผุ จากฟันกรามล่างซี่ที่ 2 ด้านขวา และลักษณะส่วนคอกระดูกต้นขายาวผิดปกติ อันเกิดขึ้นจากสาเหตุทางพันธุกรรม และ (2) โครงกระดูกหมายเลข 2 พบการพรุนของลำตัวกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 1-4 ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และการงอกของขอบลำตัวกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 4 เป็นอาการข้อต่อกระดูกเสื่อมหรืออักเสบ ด้วยเหตุอายุมากขึ้นหรือการใช้งานหนักเป็นประจำก็เป็นได้
รูปแบบการฝังศพ
การสังเกตรูปแบบการฝังศพจากหลักฐานที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านทุ่ม พบทั้งการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว ฝังแบบงอตัว และฝังในภาชนะดินเผา ซึ่งน่าจะเป็นการฝังศพครั้งที่ 2? แต่ในการขุดค้นพบรูปแบบการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวเท่านั้น ไม่มีรูปแบบทิศทางแน่นอน พบร่วมกับเครื่องใช้อย่างภาชนะดินเผา เครื่องประดับอย่างกำไลเปลือกหอย หินสีเขียว และอาหาร (กระดูกสัตว์) อุทิศให้กับศพ
เอกสารอ้างอิง
1) สรรใจ แสงวิเชียร, วสันต์ ศรีสุรินทร์ และวิรัตน์ วัฒนายิ่งสกุล. “การคำนวณความสูงจากความยาวของกระดูกคนไทยและจีน.” สารศิริราช 37 (2528): 215-218.
2) Trotter, M. “Estimation of stature from intact long limb bones.” Stewart, T.D. (ed) Personal Identification in Mass Disasters Smithsonian Institution, Washington.