การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะทางสังคมภายในของชุมชนโบราณที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพในภาชนะดินเผาบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนโบราณดังกล่าว เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแหล่งโบราณคดีในแต่ละพื้นที่ศึกษา และเพื่อศึกษาภาพรวมของแบบแผนประเพณีฝังศพในภาชนะดินเผาของลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ซึ่งเป็นแบบแผนพิเศษแตกต่างจากที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆของไทย โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์โบราณวัตถุใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1)การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ 2)การวิเคราะห์รูปแบบของการฝังศพและการจัดวางภาชนะฝังศพ 3)การวิเคราะห์ภาชนะฝังศพ และ 4)การวิเคราะห์สิ่งของที่อุทิศให้กับศพ โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแหล่งโบราณคดี 3 แห่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณนครจำปาศรี แหล่งโบราณคดีโนนแก และแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวร่วมกับการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่พบการฝังศพในภาชนะดินเผาทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ผลการศึกษาพบว่าชุมชนที่ปฏิบัติพิธีกรรมปลงศพในภาชนะดินเผานั้นเป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนในสังคมค่อนข้างสูงในระดับแว่นแคว้น รวมทั้งมีการจำแนกความแตกต่างโครงสร้างทางสถานภาพที่ปรากฎในหลักฐานการฝังศพ
ในด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนโบราณดังกล่าวพบว่ามีความต่อเนื่องของการอยู่อาศัยเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากภายนอก
การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแหล่งโบราณคดีในแต่ละพื้นที่ศึกษาว่ามีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่ในระดับสังคมแว่นแคว้น และ
การศึกษาภาพรวมของแบบแผนประเพณีฝังศพในภาชนะดินเผาของลุ่มแม่น้ำมูล-ชี พบว่าแต่ละแห่งที่ศึกษานั้นมีลักษณะเฉพาะของตน