การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงกับความยาวกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และกระดูกปลายแขนด้านใน (Ulna) ของประชากรไทย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยทำการวัดส่วนสูง ความยาวกระดูก Tibia และ Ulna ของคนไทย จำนวน 400 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 188 คน และเพศหญิงจำนวน 212 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีอายุระหว่าง 20-55 ปี การวัดความยาวกระดูก Tibia จะวัดจากขอบปลายสุดของปุ่มกระดูก Medial malleolus ไปจนถึงขอบของปุ่มกระดูก Medial condyle ของกระดูก Tibia และวัดความยาวกระดูก Ulna จากขอบปลายสุดของปุ่มกระดูก Ulna styloid process บริเวณข้อมือไปจนถึงปุ่มกระดูก Olecranon process บริเวณข้อศอก โดยใช้ Vernier caliper เป็นเครื่องมือในการวัด จากนั้นนำข้อมูลส่วนสูงและความยาวกระดูกมาหาความสัมพันธ์และสร้างสมการคาดคะเนส่วนสูง โดยใช้การวิเคราะห์การถดถอย (Regression analysis) จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงกับความยาวกระดูก Tibia และ Ulna พบว่าความยาวกระดูก Tibia และ Ulna มีความสัมพันธ์กับส่วนสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อนำความยาวกระดูกและส่วนสูงมาสร้างเป็นสมการคาดคะเนส่วนสูง พบว่าความยาวกระดูก Tibia และ Ulna สามารถนำมาใช้ในการคาดคะเนส่วนสูงของประชากรไทยได้