ปัญหาเกี่ยวกับศพไร้ญาติหรือศพนิรนามมีมากมายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีศพนิรนามประมาณ 400 ศพ ที่ได้ขอสงวนการฌาปนกิจไว้ และดำเนินการเก็บข้อมูลเบื้องต้น จากนั้นจะเก็บรักษาศพเหล่านี้อย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการวางระบบการเก็บรักษาศพนิรนามและจัดทำฐานข้อมูลสารพันธุกรรมศพนิรนาม เพื่อการติดตามบุคคลสูญหายต่อไปในอนาคต แต่ศพนิรนามเหล่านี้ มักถูกทำลายทางกายภาพและชีวภาพภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น สภาวะของดิน ความชื้น ความร้อน จุลชีพ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของดีเอ็นเอ
การศึกษานี้ได้เปรียบเทียบวิธีการสกัดดีเอ็นเอด้วยวิธี Phenol-Chloroform และ DNA IQTM System โดยเปรียบเทียบ 3 ด้านด้วยกัน คือ ปริมาณสารพันธุกรรมที่สกัดได้ ปริมาณสารยับยั้งที่ได้หลังจากการสกัดทั้ง 2 วิธี และ เปรียบเทียบคุณภาพของรูปแบบสารพันธุกรรมที่ได้ โดยใช้การเพิ่มปริมาณแบบมัลติเพล็กซ์จากไมโครแซทเทลไลท์ จำนวน 16 ตำแหน่ง ในตำแหน่ง (Loci): D3S1358, vWA, FGA, D8S1179, D21S11, D18S51, D5S818, D13S317, D7S820, Penta E, THO1, TPOX, CSF1PO, D16S539, Penta D และ Amelogenin ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้ระบุเพศ
ผลที่ได้คือ ด้านปริมาณนั้น ปริมาณดีเอ็นเอเฉลี่ยจากการสกัดด้วยวิธี DNA IQTM System เท่ากับ 0.02245 ng/µl และการสกัดด้วยวิธี Phenol-Chloroform เท่ากับ 0.0406 ng/µl ส่วนปริมาณสารยับยั้งพบว่ามีระดับค่าสารยับยั้งเพียงเล็กน้อยจากตัวอย่างที่สกัดด้วยวิธี DNA IQTM System และคุณภาพของรูปแบบสารพันธุกรรมที่เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยพีซีอาร์มัลติเพล็กซ์จำนวน 16 ตำแหน่ง พบว่าการสกัดด้วยวิธี DNA IQTM System ไม่ได้แสดงผลที่ดีกว่าวิธี Phenol-Chloroform แต่มีข้อดี คือใช้เวลาแรงงานและขั้นตอนการสกัดที่ซับซ้อนน้อยกว่า รวมถึงการไม่ใช้สารที่เป็นอันตรายอย่างฟีนอล