มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

การศึกษารูปแบบการปลงศพในท่างอเข่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อเรื่อง
การศึกษารูปแบบการปลงศพในท่างอเข่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้แต่ง
แพรวชมพู ชุณหอุไร
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2013
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

การศึกษาพิธีกรรมการฝังศพในท่างอเข่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและศึกษาแบบแผนการฝังศพท่างอเข่า เปรียบเทียบแบบแผนพิธีกรรมเพื่อตอบคำถามการฝังศพท่างอเข่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับข้องกับกลุ่มวัฒนธรรม เพศ อายุเมื่อตาย หรือ ช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ และศึกษาการแพร่กระจายของการฝังศพท่างอเข่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงอายุ 20,000 – 2,000 ปีมาแล้ว โดยการศึกษาเปรียบเทียบแบบแผนพิธีกรรมจากความเหมือนและแตกต่างระหว่างแหละ และลำดับอายุสมัย การศึกษาใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่พบหลักฐานหลุมฝังศพท่างอเข่าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบจากแหล่งโบราณคดี 24 แหล่ง

ผลการศึกษาพบการจัดท่าศพแบบกึ่งงอเข่า (Semi-flexed) มากที่สุด ไม่มีการเจาะจง เลือกเพศ อายุ และทิศศรีษะ ประเภทของอุทิศมีความสัมพันธ์กับอายุสมัย บริบทหลุมฝังศพมีการใช้ก้อนหินทับบนศพมากที่สุด แบบแผนพิธีกรรมการฝังศพพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในด้านรูปแบบท่างอเข่า แต่ประเภทของอุทิศและบริบทหลุมฝังศพมีความหลากหลายเฉพาะในแต่ละประเทศ การเผยแพร่กระจายของแหล่งโบราณคดี เมื่อลำดับจากอายุสมัยไม่สัมพันธ์กับการลำดับตำแหน่งพื้นที่ไม่ว่าจากทิศทางใด แสดงว่าการฝังศพท่างอเข่าไม่ได้เกิดขึ้นจากที่หนึ่งแล้วแพร่กระจายต่อไป อาจเป็นคติความเชื่อที่เกิดขึ้นในหลายกลุ่มสังคมในต่างเวลาและมีความเชื่อนี้อยู่อย่างต่อเนื่องในบางกลุ่มสังคมเห็นได้จากการที่หลักฐานการฝังศพท่างอเข่ายังคงพบต่อเนื่อง

เอกสารฉบับเต็ม