การพยากรณ์เพศและประมาณส่วนสูงของบุคคลไม่ทราบชื่อนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในทางนิติวิทยาศาสตร์ แม้ปัจจุบันการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจะมีอยู่หลายวิธี เช่น การตรวจลายพิมพ์ นิ้วมือและการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ แม้การพยากรณ์เพศและส่วนสูงจะสามารถทำได้ดีจากโครงกระดูกยาว แต่ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมไปถึงคดีฆาตกรรมที่มีการซ่อนเร้นทำลายศพอาจทำให้สภาพศพของผู้เสียชีวิตได้รับความเสียหายมากหรือสูญหายจนโอกาสที่จะพบโครงกระดูกที่สมบูรณ์มีน้อยลง การตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยขนาดของ Frontal Sinus เพื่อพยากรณ์เพศและส่วนสูงจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มโอกาสในการระบุตัวบุคคลได้มากขึ้น
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูงและเพศกับขนาดของโพรงอากาศ ฟรอนทัล ไซนัส และสร้างสมการที่จะสามารถใช้พยากรณ์เพศและประมาณส่วนสูงในประชากรไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นขนาดอ้างอิง 4 ตำแหน่งจากการวัดขนาดของฟรอนทัลไซนัส จากภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ของผู้ป่วย จำนวน 156 ราย และนำมาคำนวณด้วยวิธีการทางสถิติโดยใช้ Logistic Regression เพื่อหาความสัมพันธ์กับเพศ และใช้ Linear Regression หาความสัมพันธ์กับส่วนสูง และหาตัวแปรที่มีค่าความสัมพันธ์กับส่วนสูงและเพศมากที่สุด จากนั้นใช้เทคนิค Stepwise method วิเคราะห์หาสมการที่ค่าความสัมพันธ์กับเพศและส่วนสูงมากที่สุด, มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานต่ำที่สุด ผลการศึกษาพบว่าตัวแบบที่มี Rt.สูง และ Lt. กว้างเป็นตัวแปรอิสระนั้น สามารถแยกเพศได้ถูกต้องร้อยละ 76.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบความเหมาะสมของตัวแบบ พบว่าค่าไคส-แควร์มีค่า 7.453, ค่า sig. = 0.489 > 0.05,แต่พยากรณ์ส่วนสูงในเพศชายได้ร้อยละ10.4 และพยากรณ์ส่วนสูงในเพศหญิงได้ร้อยละ 2.5 โดยมีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานในการพยากรณ์เท่ากับ + 6.708 แปลผลได้ว่าขนาดของฟรอนทัล ไซนัส มีความสัมพันธ์ และสามารถใช้พยากรณ์เพศได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ในการประมาณส่วนสูงของมนุษย์