บทที่ 17 : รายงานผลการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กที่เนินอุโลก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ใน พ.ศ. 2540-2541 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องต้นกำเนิดของอารยธรรมเมืองพระนคร โครงการร่วมระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์
ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษารวมจำนวนทั้งสิ้น 120 โครง น้อยกว่าหนึ่งในสามของโครงกระดูก มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ (มากกว่าร้อยละ 75) ประกอบด้วยโครงกระดูกทารกและเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 46 โครง (ร้อยละ 38.33) เด็กและวัยรุ่นอายุ 5-15 ปี จำนวน 5 โครง และเด็กจำแนกอายุไม่ได้ 2 โครง ผู้ใหญ่เพศชาย 21 โครง เพศหญิง 27 โครง และจำแนกเพศไม่ได้ 19 โครง โดยมีอัตราการตายของทารกในช่วงขวบปีแรกสูงถึงร้อยละ 30.1
การเจริญเติบโต เพศหญิงมีส่วนสูงระหว่าง 151.5-161.6 เซนติเมตร ส่วนเพศชายมีส่วนสูงระหว่าง 165.3-173.3 เซนติเมตร (สมการคนไทยจีน : สรรใจ แสงวิเชียร และคณะ, 2528) ส่วนตัวชี้วัดภาวะชะงักงันในการเจริญเติบโตพบลักษณะเคลือบฟันเจริญพร่องทั้งแบบ LEH (Linear Enamel Hypoplasia) ในฟันแท้ประมาณร้อยละ 7.0 และ LHPC (Localized hypoplasia of the primary canine) ในฟันเขี้ยวน้ำนมจากเด็ก 2 ใน 3 คนที่ศึกษาได้
รอยโรคในช่องปาก พบทั้งฟันผุ การสูญเสียฟันขณะมีชีวิต รอยโรคการติดเชื้อ คราบหินปูน และปริทันต์อักเสบ ฟันสึกพบการสึกในชุดฟันหน้ามากกว่าชุดฟันหลัง รวมทั้งการพบร่องรอยการตั้งใจถอนฟันตัดซี่ที่สองในระดับสูง โดยร้อยละ 79.0 ของจำนวนโครงกระดูกที่ศึกษาได้ 30 โครง พบการหายไปของฟันตัดซี่ที่สองในขากรรไกรบนหรือขากรรไกรล่างอย่างน้อยซี่ใดซี่หนึ่ง และประมาณ 6 ใน 20 โครง พบการหายไปของฟันตัดซี่ที่สองทั้งในขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง
ส่วนรอยโรคบนกระดูกพบทั้งการเสื่อมสภาพของข้อกระดูก รอยโรคการติดเชื้ออย่างโรคเรื้อนในโครงกระดูกวัยรุ่นเพศชาย หมายเลข 107 กับผู้สูงอายุเพศชาย หมายเลข 42 รอยโรควัณโรคกระดูกในโครงกระดูกหญิงสาว หมายเลข 36 รวมทั้งรอยโรคที่แสดงถึงความรุนแรงคือบาดแผล ร่องรอยการบาดเจ็บที่เกิดจากการสับด้วยของมีคมบนกะโหลกศีรษะของหญิงสูงวัย หมายเลข 99 และร่องรอยอาวุธเหล็กเสียบอยู่บริเวณกระดูกสันหลังช่วงอกของโครงกระดูกชายหนุ่ม หมายเลข 61 ที่ถูกฝังในท่านอนคว่ำ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาประชากรสมัยสำริดจากแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว พบว่าภาวะสุขภาพของประชากรไม่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนเมื่อมีการเกษตรกรรมแบบเข้มข้นในสมัยเหล็ก โดยเป็นผลจากปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของทั้งสองกลุ่มประชากรก็เป็นได้