การศึกษาเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เปรียบเทียบสัณฐานหรือลักษณะทางกายภาพของประชากร จากการวัดขนาดทั้งกะโหลกศีรษะบนและชิ้นส่วนกระดูกใต้กะโหลกศีรษะ ตามระเบียบวิธีสากลที่ใช้ในงานนิติมานุษยวิทยา โดยใช้กลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกคนไทยปัจจุบัน จำนวน 104 โครง ในความดูแลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวอย่างคนจีนฮ่องกงปัจจุบัน จำนวน 94 โครง ของโรงพยาบาลทันตกรรมพรินซ์ฟิลลิปป์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง
วัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามสองประการคือ 1) ความแปรปรวนของลักษณะกายภาพที่ระหว่างกลุ่มประชากรปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย) และเอเชียตะวันออก (จีนฮ่องกง) และ 2) ลักษณะความแตกต่างทางเพศภายในกลุ่มประชากร และระหว่างกลุ่มประชากร
ผลการศึกษาพบว่าความแตกต่างทางกายกายภาพระหว่างกลุ่มคนไทยและฮ่องกงทั้งรูปทรงของกะโหลกศีระบน ความยาวของใบหน้า ความกว้างของเบ้าตา และสัณฐานของกระดูกขากรรไกรล่าง คนฮ่องกงมีความยาวของช่วงปลายแขน ขา และความยาวรวมของกระดูกรยางค์มากกว่าคนไทยที่มีขนาดของศีรษะที่ใหญ่กว่า คนไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน เช่นเดียวกับคนฮ่องกงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคนปัจจุบันในเอเชียตะวันออก
ลักษณะความแตกต่างระหว่างเพศพบคนฮ่องกงทั้งเพศชายและเพศหญิงมีขนาดกระดูกที่ใหญ่กว่าคนไทยทั้งสองเพศ แต่ปรากฏความแตกต่างระหว่างเพศภายในกลุ่มประชากรน้อยกว่าในกลุ่มประชากรไทย เมื่อนำผลการวัดที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการจำแนกตัวแปร (stepwise discriminant function) พบว่าการวัดกระดูกต้นแขนและกระดูกต้นขาสามารถใช้จำแนกเพศภายในกลุ่มตัวอย่างคนไทยได้แม่นยำ ร้อยละ 94-96