มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

PALEODIETARY CHANGE AMONG PRE-STATE METAL AGE SOCIETIES IN NORTHEAST THAILAND: A STABLE ISOTOPE APPROACH

ชื่อเรื่อง
PALEODIETARY CHANGE AMONG PRE-STATE METAL AGE SOCIETIES IN NORTHEAST THAILAND: A STABLE ISOTOPE APPROACH
ผู้แต่ง
คริสโตเฟอร์ คิง
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2006
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมาโนอา
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์ค่าไอโซโทปเสถียรของคาร์บอน (13Cคอลลาเจน และ 13Cอะพาไทด์) และไนโตรเจน (15Nคอลลาเจน) จากตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ในแหล่งโบราณคดีสมัยโลหะ กำหนดอายุ 1,500-4,000 ปีมาแล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จำนวน 178 โครง ทั้งจากกลุ่มแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี แอ่งสกลนคร และแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าวและเนินอุโลก จังหวัดนครราชสีมา ในแอ่งโคราช รวมทั้งตัวอย่างหลักฐานกระดูกสัตว์ที่พบในแหล่งโบราณคดี กับตัวอย่างพืชและสัตว์ปัจจุบันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

เป้าหมายของงานวิจัยคือการทดสอบสมมติฐานสำคัญสองประการคือ 1) สภาพอากาศที่แห้งแล้งขึ้นและการเปลี่ยนรูปแบบการยังชีพด้วยการเกษตรกรรมแบบเข้มข้น-การเพาะปลูกข้าว ในสมัยสำริดถึงสมัยเหล็ก ประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และ 2) ความแตกต่างในการบริโภคอาหารระหว่างเพศชายและเพศหญิงภายในกลุ่มประชากรเดียวกันที่แสดงถึงสถานภาพและการจัดระเบียบองค์กรทางสังคม และระหว่างกลุ่มประชากรที่แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ผลการศึกษาพบว่าตัวอย่างประชากรในช่วง 1,000-3,000 ปีมาแล้วมีพฤติกรรมการบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากพืชในกลุ่ม C3 เป็นหลัก โปรตีนได้จากการบริโภคสัตว์บกกับปลาน้ำจืดเป็นหลัก โดยเริ่มพฤติกรรมมาบริโภคสัตว์บก-สัตว์เลี้ยงที่บริโภคพืชกลุ่ม C3 มากขึ้นในช่วงการเกษตรกรรมแบบเข้มข้น ด้านความแตกต่างระหว่างเพศพบว่าในช่วงต้น ประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว เพศหญิงมีการบริโภคอาหารจากแหล่งโปรตีนหลากหลายกว่าเพศชาย ส่วนระยะต่อมา ราว 1,000-2,000 ปีมาแล้ว เพศหญิงเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากเดิมชัดเจน คือคาร์โบไฮเดรตจากพืชเกษตรกรรมและโปรตีนทั้งจากปลาและสัตว์กินเนื้อ ขณะที่เพศชายพบการบริโภคโปรตีนที่ได้จากสัตว์เลี้ยงมากขึ้นจากเดิมที่นิยมล่าสัตว์มาใช้เป็นอาหาร