การศึกษาสุขภาพและพยาธิสภาพโบราณของตัวอย่างประชากร-โครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจาก 1) สมัยก่อนการใช้โลหะที่เป็นสังคมก่อนการเกษตรกรรม หรือสมัยหินใหม่-สมัยสำริดตอนต้น (สมัยต้นของโนนนกทา) เป็น 2) สังคมเกษตร สมัยสำริดตอนปลาย (สมัยปลายของโนนนกทาและสมัยต้นของบ้านเชียง) และ 3) สังคมเกษตรกรรมแบบเข้มข้น ในสมัยเหล็ก (สมัยปลายของบ้านเชียง) ศึกษาจากตัวชี้วัดด้านสุขภาพประเภทรอยโรคที่เกิดจากความเครียดทางกายภาพและชีวภาพ (physciological and biological stress) ตัวอย่างเช่นเคลือบฟันเจริญพร่องเป็นเส้นตรง (LEH) ฟันผุ คราบหินปูน ลักษณะกะโหลกศีรษะบนหนาและพรุนผิดปกติ ระดับการเสื่อมสภาพของข้อกระดูก รอยโรคติดเชื้อ และรอยโรคจากการบาดเจ็บ
ผลการวิจัยได้ผลสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 2 ประการ คือ 1) ประชากรในสมัยก่อนการใช้โลหะมีสุขภาพดี มีอัตราความชุกของตัวชี้วัดสุขภาพในระดับต่ำ ทั้งสองกลุ่มประชากรในสมัยต้นปรากฏรอยโรคโลหิตจางจากการขาดสารอาหารมากกว่าโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม รอยโรคการสมานบาดแผลของกระดูกน่าจะเป็นผลจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และเริ่มปรากฏรอยโรคติดเชื้อมากขึ้นรวมทั้งวัณโรคในสมัยปลายของโนนนกทา
และ 2) เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านตามช่วงเวลา สุขภาพโดยรวมของประชากรน่าจะเสื่อมลงตามรูปแบบสากล สอดคล้องกับผลการศึกษาของกลุ่มประชากรโนนนกทาที่สุขภาพเสื่อมลงในสมัยปลาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากที่เพศหญิงสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ง่ายกว่า ทำให้บริโภคอาหาร (ข้าว) ได้มากกว่า จึงมีอัตราความชุกของโรคในช่องปากสูงขึ้น กับมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันกลับพบรอยโรคโลหิตจางลดลงเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านซึ่งขัดแย้งกับข้อสมมติฐานนี้ ซึ่งเป็นได้ทั้งผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม หรือจากข้อจำกัดของตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา
อย่างไรก็ดีหากเทียบภาพรวมในภูมิภาคจะเห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของประชากรที่เสื่อมลงตามช่วงเวลา จากประชากรสมัยต้นโนนนกทาที่สุขภาพดีที่สุด เป็นประชากรสมัยปลายของโนนนกทากับสมัยต้นบ้านเชียง และประชากรบ้านเชียงสมัยปลาย ตามลำดับ