มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

“THE PEOPLE OF BAN LUM KHAO” IN THE ORIGINS OF THE CIVILIZATION OF ANGKOR VOLUME I: THE EXCAVATION OF BAN LUM KHAO

ชื่อเรื่อง
“THE PEOPLE OF BAN LUM KHAO” IN THE ORIGINS OF THE CIVILIZATION OF ANGKOR VOLUME I: THE EXCAVATION OF BAN LUM KHAO
ผู้แต่ง
เคทริน โดเมทท์
ประเภทเอกสารวิชาการ
รายงานวิจัย
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2004
วันที่
เผยแพร่
กรมศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

บทที่ 5 : รายงานผลการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ สมัยสำริด จากแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ใน พ.ศ. 2538-2539 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องต้นกำเนิดของอารยธรรมเมืองพระนคร โครงการร่วมระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์

ตัวอย่างโครงกระดูกที่ใช้ศึกษาจำนวน 110 โครง ประกอบด้วยโครงกระดูกทารกและเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 35 โครง เด็กและวัยรุ่นอายุ 5-15 ปี จำนวน 16 โครง ผู้ใหญ่เพศชาย 27 โครง และเพศหญิง 32 โครง มีอัตราการตายของทารกในช่วงขวบปีแรกประมาณ ร้อยละ 19.1 เพศชายมีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 164.7 เซนติเมตร ส่วนเพศหญิงมีส่วนสูงโดยเฉลี่ย 154.7 เซนติเมตร (สมการคนไทยจีน : สรรใจ แสงวิเชียร และคณะ, 2528)

การศึกษาภาวะชะงักงันในการเจริญเติบโตโดยการใช้ภาพเอกซเรย์เส้น Harris (Harris Lines) บริเวณส่วนปลายก้านกระดูกหน้าแข้ง พบโครงกระดูก 3 ใน 10 พบเส้น Harris อย่างน้อยหนึ่งเส้นขึ้นไป รวมทั้งการสังเกตลักษณะภาวะเคลือบฟันเจริญพร่องบนฟันน้ำนมและฟันแท้ พบตัวอย่างฟันประมาณร้อยละ 11.9 ปรากฏภาวะทุพโภชนาการ รอยโรคในช่องปากพบรอยโรคฟันผุในระดับต่ำ ประมาณร้อยละ 4.5 เช่นเดียวกับการสูญเสียฟันขณะมีชีวิต ส่วนรอยโรคอื่น ๆ บนกระดูก พบทั้งการเสื่อมสภาพของกระดูกข้อต่อซินโนเวียลและข้อกระดูกสันหลัง รวมทั้งรอยโรคการบาดเจ็บบนกระดูกที่มักพบในส่วนปลายแขนเป็นหลัก (กระดูกปลายแขนด้านในและด้านนอก)

ภาพรวมประชากรจากบ้านหลุมข้าวพบรอยโรคต่าง ๆ ระดับต่ำ ในทางกลับกันมีอัตราการเสียชีวิตของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีระดับสูง ซึ่งเกิดได้จากทั้งโรคติดเชื้อและการขาดสารอาหาร สอดคล้องกับการพบรอยโรคที่แสดงถึงภาวะชะงักงันของการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เป็นผลกระทบจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ในฐานะผู้บุกเบิกการตั้งถิ่นฐานภายในบริเวณนี้ก็เป็นได้