งานวิจัยเสนอผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ ทั้งจาก 1) เนื้อเยื่อภายในโพรงตัวอย่างฟันกรามซี่ที่ 1-2 โครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 26 โครง จากแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ในระยะการฝังศพสมัยที่ 1-5 กำหนดอายุประมาณ 1,500-2,400 ปีมาแล้ว และ 2) ตัวอย่างเส้นผมประชากรปัจจุบันประกอบด้วยราษฎรบ้านหลุมข้าวและบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง กลุ่มชาวบนในเขตอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มชาติพันธุ์เขมรตามแนวเขตชายแดนไทย-กัมพูชา ในจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งการเปรียบเทียบฐานข้อมูลพันธุกรรมกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศไทย เช่น ภูไท ลีซู ซาไก และประชากรฮั่นในประเทศจีน ที่อาศัยในยูนนาน ชิงเต่า ชิงไห่ ซินเจียง หวู่ฮั่น เป็นต้น
ตัวอย่างฟันโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 22 ตัวอย่างที่สามารถศึกษาได้ (ร้อยละ 85) พบว่ามีผลวิเคราะห์พันธุกรรม ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเออยู่ในกลุ่มแฮโพลไทป์ M เป็นส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 45 รองลงมาคือกลุ่มแฮโพลไทป์ B, B* และ F ตามลำดับ โครงกระดูกที่พบมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม หรือความเกี่ยวเนื่องทางเครือญาติ โดยเฉพาะประชากรที่พบในระยะการฝังศพสมัยที่ 2-5
เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประชากรปัจจุบันด้วยการสร้างแผนภูมิความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ (ก) ซาไก (ข) กลุ่มประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์จากเนินอุโลกที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรจีนฮั่นจากเหลียวหนิง กวางตุ้ง ชิงเต่า ลาวโซ่ง และกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก อย่างชองและชาวบน ตามลำดับ และ (ค) กลุ่มคนไทยปัจจุบันในขอนแก่น นครราชสีมา และเชียงใหม่ ที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรจีนในยูนนาน ภูไท ลีซู และประชากรจีนในเขตภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่ชิงไห่และซินเจียง สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่เนินอุโลกอพยพเคลื่อนย้ายมาจากด้านทิศตะวันออกของจีนเมื่อประมาณ 2,400 ปีมาแล้ว