มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ชื่อเรื่อง
การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ผู้แต่ง
นวรัตน์ แก่อินทร์
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2000
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ด้วยวิธีการสังเกตและอธิบายลักษณะทางภายภาพด้วยตาเปล่า และการศึกษารูปแบบการฝังศพที่พบจากแหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ใน 2 สมัยด้วยกันคือ 1) สมัยสำริด กำหนดอายุ 2,370-3,400 ปีมาแล้ว และ 2) สมัยเหล็ก กำหนดอายุราว 1,770-2,370 ปีมาแล้ว

การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์จำนวน 7 โครง ประเมินได้เป็นเพศชาย 3 โครง หญิง 1 โครง และไม่สามารถประเมินเพศได้ 3 โครง ตัวอย่างกระดูกจำนวน 4 โครงมีผลการประเมินอายุเมื่อตายระหว่าง 30-40 ปี โครงกระดูกเพศชาย จำนวน 2 โครง มีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 162-171 เซนติเมตร การประเมินเชื้อชาติจากโครงกระดูกที่ศึกษา 2 โครง พบเป็นกลุ่มมองโกลอยด์ และการศึกษารอยโรคหรือพยาธิสภาพพบทั้งฟันผุ เยื่อหุ้มฟันอักเสบระดับปานกลาง และกระดูกเสื่อม

การศึกษารูปแบบการฝังศพจำนวน 13 หลุมฝังศพ พบว่าทั้งสองสมัยมีความคล้ายคลึงกันทั้งลักษณะการวางศพในท่านอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีการห่อมัดศพก่อนนำไปฝัง โดยมีภาชนะทุบปูรองศพ และมีสิ่งของอุทิศให้กับศพ ทั้งนี้ในสมัยสำริดเริ่มปรากฏการฝังศพครั้งที่ 2 ร่วมด้วย ขณะที่สมัยเหล็กจะพบการฝังศพในภาชนะดินเผา จากข้อมูลรูปแบบการฝังศพและลักษณะทางกายภาพของโครงกระดูกที่ได้แสดงถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีพนมวันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีความสัมพันธ์กับชุมชนบริเวณใกล้เคียงก่อนจะมีการติดต่อและรับวัฒนธรรมเขมรในเวลาต่อมา

เอกสารฉบับเต็ม