งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีโนนป่ากล้วย จังหวัดขอนแก่น จากการขุดค้นเมื่อ พ.ศ. 2527-2528 จำนวน 19 โครง กำหนดอายุประมาณ 1,800-4,000 ปีมาแล้ว สมัยโลหะตอนต้น
ผลการศึกษาพบว่าเป็นโครงกระดูกวัยทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ สามารถประเมินเพศได้ 15 โครง แบ่งเป็นเพศชาย 6 โครง และเพศหญิง 9 โครง ประชากรมีอายุขัยคาดคะเน 24.6 ปี กะโหลกศีรษะมีรูปทรงกลม ค่อนข้างยาวและกว้าง ใบหน้าตรง เพดานปากกว้าง กระดูกขากรรไกรล่างแบบ “rocker jaw” ฟันมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าคนไทยปัจจุบัน ฟันตัดลักษณะเป็นรูปพลั่ว บางโครงพบฟันรูปหมุด และการเรียงตัวของฟันแบบไม่เป็นระเบียบ รวมถึงการพบรอยโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และฟันคุด
การประเมินความสูงของเพศชายระหว่าง 162-173 เซนติเมตร และเพศหญิงสูงประมาณ 140-163 เซนติเมตร โดยเฉลี่ยของกลุ่มประชากรมีสัดส่วนกระดูกปลายแขนสั้นกว่ากระดูกต้นแขน โครงกระดูกส่วนใหญ่พบรอยโรคข้อกระดูกสันหลังและข้อกระดูกเสื่อม รวมถึงรอยโรคกะโหลกศีรษะบนหนาและพรุนผิดปกติ ที่อาจเกิดจากภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยภาพรวมโครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีโนนป่ากล้วยมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย